รายงานวิทยาศาสตร์  อาวุธคู่กายของ ‘เกรต้า’ ที่ผู้นำโลกไม่ฟัง

หลายคนอาจจะเพิ่งรู้จัก เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) จากปาฐกถาอันร้อนแรงและดุดันของเธอในการประชุม Climate Action โดยเฉพาะวลีสั้น ๆ ที่กัดกินหัวใจว่า “How dare you?” เมื่อเธอตั้งคำถามต่อนักการเมืองและผู้นำโลกที่สนใจกับเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าหายนะจากปัญหาโลกร้อน

แต่เด็กสาวชาวสวีเดน วัย 16 นักเคลื่อนไหวด้านปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสหภาพอากาศรายนี้ไม่ได้พูดด้วยอารมณ์ทุกครั้ง และเกือบทุกครั้งเธอจะยกสถิติและรายงานทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมายืนยันในสิ่งที่เธอต้องการให้ชาวโลกได้ตระหนัก

ระหว่างให้การต่อคณะกรรมาธิการของสภาคองเกรส เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 เกรต้า ธันเบิร์ก ได้เสนอให้นักการเมืองสหรัฐ อ่านรายงานพิเศษของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2561 พร้อมกับบอกว่า “ฉันไม่ได้ต้องการให้คุณฟังฉัน ฉันต้องการให้คุณฟังนักวิทยาศาสตร์ ฉันต้องการให้คุณเป็นพลังหนุนหลังวิทยาศาสตร์ และฉันอยากให้คุณลงมือทำกันจริง ๆ” (1)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกรต้าตอกย้ำถึงความสำคัญของรายงานจากนักวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ก่อนหน้านี้ เกรต้าถูกซักถามถึงความเห็นเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ซึ่งตัดสินใจถอนตัวจากความตกลงปารีส) เธอบอกว่า “แปลกที่ทุกคนถามฉันเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่เสมอ ข้อความที่ฉันอยากจะส่งไปถึงเขาก็คือ ขอให้เขาแค่เพียงฟังวิทยาศาสตร์ และเห็นได้ชัดว่าเขาไม่ได้ทำอย่างนั้น” (2)

เกรต้าเอ่ยถึงรายงานพิเศษของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ปี 2018 หลายครั้ง แต่มี 2 ครั้งที่เธอสร้างแรงสั่นสะเทือนมากเป็นพิเศษ นั่นคือเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเธอกล่าวสุนทรพจน์กับสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศส และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ซึ่งเธอมอบรายงานนี้ให้สมาชิกรัฐสภาสหรัฐ หรือสภาคองเกรส

เกรต้ามอบรายงานฉบับเต็มให้กับสมาชิกคองเกรส พร้อมกับกล่าวสุนทรพจน์สั้น ๆ เพียง 8 บรรทัด ซึ่งหัวใจของการปรากฎตัวครั้งนั้นก็คือรายงาน IPCC ฉบับนี้

  1. ต้องร้อนขึ้นน้อยกว่า 1.5 องศา

ที่ฝรั่งเศส เกรต้าลงลึกในรายละเอียดและยกสถิติในรายงานบอกว่า ถ้าเราสามารถทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่รายงาน IPCC ระบุไว้ การปรับตัวของเราต่อสภาพที่เปลี่ยนไปก็จะง่ายขึ้น โลกของเราจะได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยลงจากความรุนแรงและความถี่ของภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่นเดียวกันทรัพยากร ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร การมือง การท่องเที่ยว และการกำจัดคาร์บอนก็จะได้รับผลกระทบน้อยลงเช่นกัน (3)

  1. Carbon Budget กำลังจะหมดลง

เกรต้า ยังกล่าวกับสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสว่า “หากเรามีโอกาส 67% ที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตอนนี้เรามี Carbon Budget ในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 อยู่ที่ 420 กิกะตัน และแน่นอนว่าจำนวนลดลงมากในวันนี้ เราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 42 กิกะตันต่อปี ที่ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน Carbon Budget  ที่เหลืออยู่จะหายไปภายใน 8 ปีครึ่ง” (4)

Carbon Budget ที่เกรต้าเอ่ยถึงคือ “งบประมาณ” หรือปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราสามารถปล่อยออกมาได้โดยไม่ให้อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่หากการปล่อยมลพิษดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ Carbon Budget ของโลกก็จะเกินงบประมาณในเวลาประมาณ 30 ปีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้โลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเลวร้าย อาทิ มีไฟป่าถี่ขึ้น ภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ภัยแล้งแพร่กระจาย และอื่น ๆ

  1. ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ย้อนกลับไม่ได้

มีอย่างน้อย 2 ครั้งที่ เกรต้าเอ่ยถึงปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ย้อนกลับไม่ได้ (irreversible chain reaction) ซึ่งระบุไว้ในรายงานของ IPCC ครั้งแรกคือในคำกล่าวถึงประธานสหภาพยุโรป ฌ็อง-โคลด ยุงเคอร์ (Jean-Claude Juncker) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 เธอบอกว่า “ตามรายงานของ IPCC เราอยู่ห่างจากการปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ย้อนกลับไม่ได้ เกินกว่าการควบคุมของมนุษย์ประมาณ 11 ปี  เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะต้องเกิดขึ้นภายในทศวรรษที่จะมาถึงนี้” (5)

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 เกรต้า กล่าวกับสมาชิกรัฐสภาอังกฤษด้วยเรื่องเดียวกันว่า “ประมาณปี 2030 (2573), 10 ปี 252 วันและ 10 ชั่วโมงจากนี้ เราจะอยู่ในตำแหน่งที่เราจะเริ่มปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ซึ่งน่าจะนำไปสู่การสิ้นสุดอารยธรรมที่เราคุ้นเคย เว้นแต่ในเวลานั้นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรและเป็นประวัติการณ์ในทุกด้านของสังคมได้เกิดขึ้น รวมถึงการลดการปล่อย CO2 ลงอย่างน้อย 50%” (6)

ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ย้อนกลับไม่ได้ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ระบบนิเวศ และภยันตรายต่อมนุษยชาติที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขให้เป็นเหมือนเดิมไม่ได้ ดังนั้น IPCC จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องลดลง 45% ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 เพื่อให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียสเท่านั้น ดังนั้นปี 2573 จึงมีความหมายมาก และเป็นสิ่งที่เกรต้าย้ำว่าเป็นอนาคตของเธอและคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เหมือนที่เธอบอกกับรัฐสภาอังกฤษว่า

“ในปี 2030 ฉันจะอายุ 26 ปี เบียต้าน้องสาวตัวน้อยของฉันจะอายุ 23 ปี เช่นเดียวกับลูกหรือหลานของคุณ เราได้ยินมาว่านั่นคือช่วงวัยที่ยิ่งใหญ่ที่ตอนนั้นคุณมีชีวิตทั้งชีวิตอยู่ในมือคุณ แต่ฉันไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเรา” (6)

  1. คำเตือนจาก IPCC ที่ผู้นำโลกไม่ฟัง

แม้ว่าจะยกสถิติชี้ให้เห็นชัดและมอบรายงานทั้งฉบับให้ แต่เกรต้าแสดงความผิดหวังล่วงหน้าไว้แล้วว่า นักการเมืองจะไม่รับฟังรายงานแน่นอน เธอกล่าวกับสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสว่า

“ฉันไม่เคยได้ยินนักข่าว นักการเมือง หรือนักธุรกิจ จะพูดถึงตัวเลขเหล่านี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เลยสักครั้ง จนเกือบจะเหมือนกับว่าคุณไม่ทราบว่ามีตัวเลขเหล่านี้อยู่ เหมือนว่าคุณไม่ได้อ่านรายงาน IPCC ล่าสุด ซึ่งอนาคตของอารยธรรมของเราขึ้นอยู่ ( กับสิ่งที่รายงานนี้ระบุ ) หรือบางทีคุณอาจไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะบอกได้ (อย่างรายงานนี้) เพราะแม้กระทั่งภาระนั้น คุณก็ยังทิ้งไว้ให้ลูกหลานอย่างเรา” (4)

  1. The Greta effect

แม้ว่ารายงานจะเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาผู้นำโลก แต่การเคลื่อนไหวของเกรต้า ได้สร้างการรับรู้อย่างขนานใหญ่ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า ผลสะเทือนของเกรต้า (The Greta effect) เช่น ในเดือนมิถุนายนปี 2562 การสำรวจของ YouGov ในสหราชอาณาจักรพบว่าความกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในสหราชอาณาจักรตั้งแต่เกรต้าและขบวนการด้านสิ่งแวดล้อม Extinction Rebellion ทำการเคลื่อนไหว (7)

ในเดือนสิงหาคม 2562 พบว่ามีการจัดพิมพ์หนังสือเด็กซึ่งเป็นรายงานวิกฤตการณ์สภาพอากาศ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยมียอดขายหนังสือเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื้อหาของหนังสือเด็กเหล่านี้มุ่งเน้นที่การเพิ่มความตระหนักรู้และพลังของคนหนุ่มสาวในการรักษาโลกใบนี้ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ต่างยกความดีความชอบให้กับ Greta effect (8)

อย่างไรก็ตาม ความตื่นตัวของสาธารณชนต่อรายงานสิ่งแวดล้อมโลกยังไม่เพียงพอ เพราะผู้ที่ตัดสินใจคือนักการเมืองและรัฐบาล ซึ่งมีปฏิกิริยาตอบรับ Greta effect น้อยมาก ตรงกันข้าม นักการเมืองและผู้นำโลกหลายคนแสดงความเห็นต่อต้านและตำหนิการเคลื่อนไหวของเกรต้าอย่างตรงไปตรงมา

ระหว่างสุนทรพจน์ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 เกรต้าบอกกับผู้ชุมนุมจำนวนนับพันคนว่า “คนที่มีอำนาจยังคงเพิกเฉยเรา ทั้ง ๆ ที่พวกเขามีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่พร้อมใช้งานอยู่ในมือ พวกเขากล้าดียังไง?” (9)

นี่คือคำถามของเกรต้าที่อาจจะสะท้อนความสงสัยของเราทุกคนเช่นกันว่า ในเมื่อนักวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อบอกให้ชาวโลกรู้ถึงภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก แต่ทำไมผู้นำโลกบางคนถึงยังเมินเฉยกับปัญหานี้

อ้างอิง

  1. Milman, Oliver and Smith, David (September 19, 2019) “‘Listen to the scientists’: Greta Thunberg urges Congress to take action”. The Guardian.

https://www.theguardian.com/us-news/2019/sep/18/greta-thunberg-testimony-congress-climate-change-action

  1. Duncan, Conrad (August 30, 2019) “Greta Thunberg says Trump ‘obviously doesn’t listen to science’ on climate change”. Independent.

https://www.indy100.com/article/greta-thunberg-trump-climate-change-new-york-un-summit-science-9085826

  1. Darby, Luke (July 24, 2019) “Greta Thunberg Tells World Leaders “You Do Have to Listen to the Scientists””. GQ.

https://www.gq.com/story/greta-thunberg-french-parliament

  1. McNalty, Sködt (September 19, 2019) “Greta Thunberg has talked about a ‘carbon budget.’ What is it, and why does it matter?”. CBC.

https://www.cbc.ca/news/technology/what-on-earth-newsletter-carbon-budget-saving-birds-1.5289861

  1. Simon, Frédéric (Febuary 21, 2019) “Greta Thunberg: ‘We just want politicians to listen to the scientists’”. EURACTIV. https://www.euractiv.com/section/climate-environment/news/greta-thunberg-we-just-want-politicians-to-listen-to-the-scientists/1315973/
  2. Thunberg, Greta (April 23, 2019) “‘You did not act in time’: Greta Thunberg’s full speech to MPs”. The Guardian. https://www.theguardian.com/environment/2019/apr/23/greta-thunberg-full-speech-to-mps-you-did-not-act-in-time
  3. Todd, Matthew (10 June 2019). “Extinction Rebellion’s tactics are working. It has pierced the bubble of denial”. The Guardian. https://www.theguardian.com/commentisfree/2019/jun/10/extinction-rebellion-bubble-denial-climate-crisis
  4. Ferguson, Donna (August 11, 2019). “‘Greta effect’ leads to boom in children’s environmental books”. The Guardian. https://www.theguardian.com/environment/2019/aug/11/greta-thunberg-leads-to-boom-in-books-aimed-at-empowering-children-to-save-planet
  5. Sallinger, Rick (October 11, 2019) “‘Change Is Coming Whether You Like It Or Not’: Greta Thunberg Draws Big Crowds In Denver”. CBSDenver.

‘Change Is Coming Whether You Like It Or Not’: Greta Thunberg Draws Big Crowds In Denver

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด