‘เกรต้า’ ร่วมชนพื้นเมืองสวีเดน คัดค้านลงทุนเหมืองแร่เหล็ก ปกป้องพื้นที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์

เครดิต AFP_Fridays for future

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกันคัดค้านโครงการทำเหมืองแร่เหล็กที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท Beowulf Mining ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ โดยไม่เห็นด้วยที่จะใช้พื้นที่ขนาด 5 ตารางไมล์ใกล้แหล่งที่อยู่ของชนพื้นเมืองซามี (Sami) ในภูมิภาค Gallok ซึ่งอยู่อาศัยกันมากว่าพันปี เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม และการอยู่รอดของวิถีวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน

ชุมชนซามีพยายามเรียกร้องกับรัฐบาลสวีเดนว่า การลงทุนเหมืองแร่เหล็กจะทำลายแหล่งหญ้าและตัดเส้นทางอพยพของกวางเรนเดียร์ รวมทั้งพื้นที่การเลี้ยงสัตว์บนเนินเขาในพื้นที่ Laponian บริเวณชายแดนนอร์เวย์ ซึ่งปกติชุมชนก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพหิมะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอยู่แล้ว 

ด้านยูเนสโกก็ได้ออกโรงเตือนรัฐบาลสวีเดนให้ดำเนินการประเมินเชิงลึกในการพิจารณาออกใบอนุญาต เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบขึ้นอย่างใหญ่หลวงต่อพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งเลี้ยงกวางเรนเดียร์ของชนพื้นเมืองซามี รวมถึงจะกระทบต่อแหล่งมรดกโลกที่อยู่ทางด้านตะวันตกของพื้นที่

นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศชาวสวีเดนอย่าง เกรต้า ธันเบิร์ก ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมประท้วง เธอกล่าวว่า กำไรที่ได้จากเหมืองแห่งนี้จะตกเป็นของบริษัทอังกฤษ (บริษัท Beowulf Mining จากอังกฤษได้ร่วมกับ Jokkmokk Iron Mines AB บริษัทลูกในสวีเดน) ไม่ใช่คนในท้องถิ่นที่จะได้ประโยชน์ แต่คนท้องถิ่นจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในระยะยาวจากอากาศเสีย น้ำเสีย และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งประเพณี

“แน่นอนว่าเราต้องการงานในท้องถิ่น แต่จะต้องไม่สูญเสียสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม สิทธิของชนพื้นเมือง และหมู่บ้านซามีที่จะได้รับผลกระทบจากเหมืองนี้” และเธอยังบอกว่า รัฐบาลสวีเดนมักจะแสร้งทำเป็นเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในด้านสิทธิมนุษยชนและในแง่ของการต่อสู้เพื่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่มันตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เกรต้ากล่าวขณะเข้าร่วมประท้วงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้นักเคลื่อนไหวยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่า โครงการทำเหมืองแร่จะก่อปัญหาให้กับที่ดิน ทรัพยากร วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของชาวซามี ทำให้คนในชุมชนเกิดความกังวลอย่างมากเพราะที่ผ่านมาขาดการปรึกษาหารือโดยสุจริตและไม่ได้รับความยินยอมจากชาวซามีซึ่งอยู่อาศัยมาก่อนถึง 2,000 ปี

กิจกรรมในชุมชนซามี

ทั้งนี้ บริษัท Beowulf ได้ขออนุมัติทำเหมืองตั้งแต่เดือน เม.ย. 2013 และถูกต่อต้านจากชนพื้นเมืองซามีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้บริหารระดับสูงของ Beowulf อธิบายผ่านคำแถลงว่า ในอนาคตการขุดเหมืองจะอยู่ร่วมกับการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ในบริเวณรอบ ๆ ได้ โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายผ่านการดำเนินการป้องกันและชดเชยแก่ชุมชนตามความจำเป็น

Beowulf อ้างว่าโครงการนี้จะสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 550 ตำแหน่ง ซึ่งคาดการณ์ว่ามีแหล่งแร่บริเวณนี้สูงถึง 389 ล้านตัน ในขณะที่ใช้พื้นที่เพียง 0.5% ของพื้นที่ทุ่งหญ้าที่มีอยู่ในชุมชนทั้งหมด 1,019 ตารางไมล์ ซึ่งรัฐบาลสวีเดนจะตัดสินใจต่อโครงการนี้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 

“คุณสามารถแสดงอะไรก็ได้ด้วยสถิติ” โจนาส แวนนาร์ วัย 42 ปี ผู้เลี้ยงกวางเรนเดียร์จากเมือง Jokkmokk ในสวีเดนกล่าวและว่า “ถ้าคุณเปรียบเทียบกับคนที่ถูกยิงด้วยธนูเข้าที่หัวใจของคุณ มันเป็นรูเล็ก ๆ เมื่อคุณคำนวณพื้นที่ของบาดแผลเทียบกับทั้งร่างกาย ถ้าอย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะตายจากลูกธนูที่พุ่งเข้าไปในหัวใจใช่หรือไม่?”

การเลี้ยงกวางเรยเดียร์ของชาวซามี สวีเดน

สำหรับชาวซามีประมาณ 80,000 คน อาศัยอยู่ใกล้เขตอาร์กติกเซอร์เคิลทางตอนเหนือของสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย ซึ่งมีการเลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีวัฒนธรรมที่ดำรงตามแบบอย่างบรรพบุรุษในการทำปศุสัตว์เรร่อนตามฤดูกาล ทุกฤดูร้อนชาวซามีจะนำฝูงกวางเรนเดียร์ฝูงใหญ่ไปยังภูเขาผ่านภูมิประเทศทางธรรมชาติที่ได้รับการอนุรักษ์มาจนถึงตอนนี้ 

ปัจจุบันพื้นที่ภาคเหนือของสแกนดิเนเวียแห่งนี้ถูกคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์มากขึ้น รวมทั้งธารน้ำแข็งและกระแสน้ำที่เปลี่ยนไป แต่ก็ยังคงความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ได้จากจำนวนไม่กี่แห่งของโลก

แม่น้ำในอุทยานแห่งชาติ sedek

รัฐสภาสหภาพยุโรปเคยวิพากษ์รัฐบาลสวีเดนเรื่องการคุ้มครองสิทธิชาวซามี และการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของยุโรป หลังมีแผนขยายอุตสาหกรรมเหมืองในสวีเดน (สวีเดนมีการขยายอุตสาหกรรมเหมืองหลายแห่งโดยเฉพาะในจังหวัดก Norrbotten ภูมิภาคที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทั้งป่าไม้ ไฟฟ้าพลังน้ำ และเหมืองแร่) ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ที่อยู่ใกล้แหล่งมรดกโลก

แหล่งมรดกโลก Laponia เป็นมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มานานนับพันปี มีพื้นที่ 9,400 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่บ้านซามี อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนเขตอนุรักษ์ธรรมชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 1996 และเป็นมรดกโลกเพียงแห่งเดียวในสวีเดนที่ได้รับเลือกให้เป็นทั้งแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติ

 อ้างอิง:

  • (Feb 11 2022)”Greta Thunberg condemns UK firm’s plans for iron mine on Sami land”  . The Guardain
  • (Feb 10 2022) “UN experts urge Sweden to stop planned iron-ore mine project” . Independent 
  • (Feb 10 2022) “UN advisers urge Sweden to stop mine in home of indigenous Sami” . Reuters
  • https://whc.unesco.org/en/list/774/
  • https://www.europarl.europa.eu/doceo/document/P-9-2021-005607_EN.html
  • What local people? Examining the Gállok mining conflict and the rights of the Sámi population in terms of justice and power . Sciencedirect

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด