มองปัจจุบัน…เห็นอนาคต ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน หากไร้ความเป็นธรรมทางสังคม

การเปลี่ยนผ่านของภูมิทัศน์ทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2562 ในด้านหนึ่งดูเหมือนจะช่วยขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมของพลเมืองในการกำหนดนโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการทางรัฐสภา แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนผ่านนี้มีความซับซ้อน ย้อนแย้ง และท้าทายอย่างยิ่ง ดังนั้น บทความนี้จะพินิจสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยแตกต่างจากปีที่ผ่านมา

2562 ปีแห่งการฟอกเขียวสิ่งแวดล้อมไทย
ในที่สุด ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีสถานะทางกฎหมายในเดือนตุลาคม 2562 เพื่อนําไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนา”

มีคำถามต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงลักษณะที่ “ผิดฝาผิดตัว” “การขยายรัฐมโหฬาร” ความเป็น “มรดกทางการเมือง” ของรัฐบาล คสช. ที่ผูกมัดประเทศไปอีกสองทศวรรษ ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ย้อนแย้งไม่น้อยไปกว่ากันคือ กรอบที่ใช้ในการประเมินผลการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจสีเขียว (Green Growth)

ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้นจะนำไปสู่รูปธรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หรือจะเป็นเพื่อ “การฟอกเขียว (Greenwashing)” ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้เพิ่มมากขึ้น

ประจักษ์พยานบางส่วนของความย้อนแย้งดังกล่าวนี้ เห็นได้จาก (1) คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง “การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท” ที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2562) และอนาคตจากการที่ชุมชนคัดค้านโครงการขยะ รวมถึงโรงไฟฟ้าขยะหลายแห่งทั่วประเทศ/โรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน (ตามแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี)/โรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม

(2) พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ ที่เอื้อทุน ซ้ำเติมปัญหาฝุ่น PM2.5 ทำให้โรงงาน 6 หมื่นแห่งไม่ถูกจัดเป็นโรงงาน (3) พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) ชี้ให้เห็นว่าผังเมืองอีอีซีนั้นเอื้อประโยชน์กับกลุ่มคนบางกลุ่ม เบียดขับประชาชนออกจากที่ดิน ทำลายระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะและความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของภาคตะวันออกและทั้งประเทศ

ทำลายวิถีชีวิต/เศรษฐกิจของชุมชนและสร้างผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ ที่สำคัญ ผลวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเตือนรับมือขยะอีอีซี 20 ปี พุ่ง 80%

มลพิษทางอากาศกลายเป็นวาระแห่งชาติหลังจากฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ยังเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ไม่อาจมองข้าม แม้ว่าภาครัฐจะเข็นแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ออกสู่สายตาสาธารณชนในช่วงเดือน ต.ค. 2552 แต่ยังคงมีความอิหลักอิเหลื่อคำถามต่อมาตรการการดำเนินงานระยะสั้น (พ.ศ. 2552-2554) และระยะยาว (2565-2567) เช่น การกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและรายปีให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก และกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers – ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ”) และแผนที่นำทาง (Roadmap) อาเซียนปลอดหมอกควันข้ามพรมแดนภายในปี 2563 เป็นต้น ว่ามีผลในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด

กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม(priority deliverables)จากการที่รัฐบาลไทยเป็นประธานอาเซียนและเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดในเดือนมิถุนายนและพฤศจิกายน 2562 ก่อนหน้านั้นในเดือน เม.ย. คณะรัฐมนตรีไฟเขียว (ร่าง)โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก 2561-2573 ตั้งเป้าลดใช้พลาสติก 7 ชนิดภายในปี 2565

พร้อมตั้งเป้ารีไซเคิลขยะพลาสติกได้ 100% ภายในปี 2570 โดยที่ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินหน้าลุยมาตรการแบนถุงพลาสติกพร้อมดีเดย์ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งได้รับความร่วมมือแบบสมัครใจจาก 75 ร้านค้า/ห้างดังและตามมาด้วยการออกกฎหมายในอนาคต

แต่วิกฤตพลาสติกคือ มลพิษ ไม่ใช่ปัญหา “ขยะ” ในขณะที่กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเลกล่าวถึงนวัตกรรมและทางเลือก แต่กลับขาดวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาระบบที่เหมาะสมและไปให้พ้นจากการทดแทนพลาสติกด้วยบรรจุภัณฑ์แบบอื่นที่ยังต้องใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเห็นได้ชัดเจนว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนล้มเหลวในการพิจารณาเพื่อต่อกรกับการค้ากากสารพิษและขยะพลาสติกเพื่อมิให้อาเซียนเป็นถังขยะพิษของโลก

ส่วน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกซึ่งระบุเพียงว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ 0.79 ล้านตันต่อปี ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 1.2 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า และได้ไฟฟ้าจากการนำพลาสติกไปเผา 1,830 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่ไม่ได้กล่าวถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาขยะพลาสติกเลยแม้แต่น้อย ซึ่งหากนำขยะพลาสติก 0.79 ล้านตันไปเผา จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 22.83 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า

ดังนั้น การเผาไม่ใช่ “การรีไซเคิล” และ “ทางออก” ของวิกฤตมลพิษพลาสติก
ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ(Climate Emergency)
อีกครั้งหนึ่งที่เราได้เห็นความล้มเหลวของการประชุมเจรจาโลกร้อนครั้งล่าสุด (COP25) ที่กรุงมาดริด สเปน ในขณะที่ เจตจำนงของประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่ภายใต้ความตกลงปารีสไม่เพียงพอที่จะจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ที่ 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) สรุปว่า ปี พ.ศ. 2562 ถือเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ในประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า อุณหภูมิต่ำสุดเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 25 – 30 องศาเซลเซียส (เทียบกับในอดีตที่ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 22 องศาเซลเซียส) ส่วนอุณหภูมิสูงสุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1-2 องศาเซลเซียส

แต่ความหวังในการกู้วิกฤตและหลีกเลี่ยงหายนะสภาพภูมิอากาศมิได้ลดน้อยลงไป ความตื่นตัวของสาธารณะชนต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศในปี พ.ศ. 2562 ขยายมากขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่การรณรงค์หยุดเรียนประท้วงโลกร้อน รวมถึง climate strike ในประเทศไทย

ในฟิลิปปินส์ กรีนพีซและภาคประชาสังคมเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเป็น “คำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order)” ที่รับรองว่าวิกฤติโลกร้อนและผลกระทบที่มีต่อวิถีชีวิตชาวฟิลิปปินส์มีความสำคัญอันดับต้นของนโยบายรัฐบาล การประกาศของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์ (The Philippines Human Rights Commission)ในเดือน ธ.ค. 2562 ระบุว่าบรรษัทอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลมีความรับผิดชอบในทางกฎหมายต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
แม้ว่าในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ของประเทศไทย ระบุว่าจะมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ และการสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยธรรมชาติและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พร้อมทั้งสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และรัฐบาลไทยประกาศว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้เกินเป้าและเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่เห็นได้ชัดเจนว่าละเลยประเด็นความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) 

ในขณะที่การใช้ถ่านหินนำเข้าในภาคอุตสาหกรรมยังเพิ่มปริมาณมากขึ้น สวนทางกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการ “ลด ละ เลิกถ่านหิน” ตามเจตนารมย์ของความตกลงปารีส โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา การถมทะเลขยายท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ข้อเสนอถมทะเลของเอ็กซอนโมบิล ไปจนถึงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักที่คุกคามความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นต้น นั้นย้อนแย้งกับคำว่า “เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ” อย่างถึงที่สุด

คำประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Bio Science และลงนามโดยนักวิทยาศาสตร์ 11,258 คน จาก 153 ประเทศ คือเสียงเตือนที่ต้องรับฟัง แนวร่วมนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกประกาศพร้อมที่จะทำงานข้างเคียงกับผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (just transition)ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและเคารพความแตกต่างหลากหลาย

คำประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศนี้เปรียบดังสัญญาณชีพ (vital signs) ที่เอื้อให้ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และสาธารณะชนเข้าใจถึงขนาดของวิกฤต ติดตามความคืบหน้าและจัดเรียงลำดับความสำคัญในการลดผลกระทบจากหายนะทางนิเวศวิทยา

ข่าวดีคือ การเปลี่ยนผ่านที่คำนึงถึงความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมนี้เป็นคำสัญญาต่อสุขภาวะที่ดีขึ้นของมนุษยชาติทุกผู้ทุกนามเมื่อเทียบกับแผนการที่เราไม่ทำอะไรเลย (business as usual)

ควรต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า หากรัฐบาลไทยจะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ อย่าคิดเพียงว่าเป็นการสร้างความแตกตื่น หากคือการ “เตือนสติ” (ของผู้นำทางการเมือง) และลงมือทำเพื่อปกป้องนิเวศวิทยาที่ค้ำจุนสนับสนุนสรรพชีวิตในสังคมไทยและโลกที่เป็นบ้านแห่งเดียวของเรา
…..
บทความเรื่อง ไม่มี “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” หากไร้ซึ่ง “ความเป็นธรรมทางสังคม” : พินิจสถานะสิ่งแวดล้อมไทยปี 2562
เขียนโดย : ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย และผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย