การเปลี่ยนผ่านสีเขียว ความท้าทายพลิกโลกสู่ Net Zero

by Admin

ความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดเพิ่มขึ้นมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศในโลกต้องเร่งดำเนินการตั้งเป้าหมายและเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” เพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถรับมือได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว (1)

ไทยเองไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านอาหาร ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) จึงเป็นกลไกสำคัญที่ไทยได้นำมาใช้จัดการกับปัญหาเหล่านี้ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ตอบโจทย์อนาคตที่ยั่งยืน (1)

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศที่มีความก้าวหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น สวีเดนที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 52% เดนมาร์ก 38% และสหราชอาณาจักร 33% ผลสำเร็จเหล่านี้เกิดจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่ การดำเนินนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และการมีโครงสร้างเชิงสถาบันที่เอื้อให้การดำเนินนโยบายมีประสิทธิภาพ

รายงาน Green Future Index 2023 ระบุว่า 35 ประเทศทั่วโลกมีความก้าวหน้าในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซียและอาร์เจนตินา ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่จีนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกก็มีความก้าวหน้าสำคัญในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยมากกว่า 25% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในจีนมาจากแหล่งพลังงานสะอาด การเปลี่ยนผ่านนี้ช่วยให้จีนเข้าใกล้เป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 33% ภายในปี 2025 (2)

แนวคิด การเปลี่ยนผ่านสีเขียวอาจยังค่อนข้างใหม่โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่อย่างไรก็ตามธนาคารโลกระบุว่า เอเชียเป็นผู้นำในหลายด้านของการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสู่เป้าหมาย “Net Zero” หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ (3)

ปัจจุบันเอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เผชิญความท้าทายจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด โดยเฉพาะ ปรากฏการณ์คลื่นความร้อน ขณะที่หลายประเทศพยายามหาทางรับมือกับผลกระทบเหล่านี้ เอเชียยังต้องเผชิญกับ “ความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน” (Transition Risk) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย กฎระเบียบ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอนและการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอาจสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับมาตรฐานใหม่ทางสิ่งแวดล้อม (3)

อย่างไรก็ตาม เอเชียมีโครงสร้างพื้นฐานหลายด้านที่สามารถรองรับการเปลี่ยนผ่านสีเขียวได้ ธนาคารโลกชี้ว่า ในบางประเทศ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย มีระดับความตระหนักเรื่อง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจัย ESG กำลังถูกนำมาประกอบการตัดสินใจทางการเงินมากขึ้น นอกจากนี้ จีนและญี่ปุ่นซึ่งมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของภูมิภาคก็มีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (3)

อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศในเอเชียต่างกำหนดเป้าหมาย Net Zero ของตนเอง โดยมีแนวทางและระยะเวลาที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านสีเขียวของแต่ละประเทศเดินหน้าเร็วช้าไม่เท่ากัน แม้จะยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า การบรรลุเป้าหมาย Net Zero จะใช้เวลานานเพียงใด แต่แนวโน้มสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ ธุรกิจและสถาบันการเงินต่างเริ่มหันมาพิจารณา “การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน” (Transition Finance) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการสีเขียวและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้เอเชียก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้เร็วขึ้น (3)

สำหรับประเทศไทยเองได้ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065 โดยเน้นลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน การขนส่ง อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย ซึ่งภาคพลังงานเพียงอย่างเดียวปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 70% ของการปล่อยทั้งหมดในประเทศ (1) ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดอยู่ในลำดับ 30 ของโลกที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาภัยพิบัติทางธรรมชาติมีความรุนแรงขึ้นทั้งความถี่ และความเสียหาย

สำหรับ สาขาพลังงานซึ่งเป็นสาขาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดของไทย การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาดจะมีบทบาทสำคัญในอนาคต โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 30% ภายในปี 2037 ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนเพิ่มเติมจากทั้งภาครัฐและเอกชน (1) (6)

ด้านสาขาคมนาคมขนส่ง การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย “30@30” เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตรถยนต์ ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศ (1) (6)

สาขาอุตสาหกรรม มีการใช้วัสดุทดแทนและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยที่ภาครัฐส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตาม BCG Model ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (1) สาขาการจัดการของเสีย ประเทศไทยได้มุ่งเน้นการลดขยะและเพิ่มการรีไซเคิลตามแผนปฏิบัติการดานการจัดการขยะของประเทศฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565–2570)โดยส่งเสริมการใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสียอย่างถูกต้อง ซึ่งจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนั้น ภาคการเงินของไทยยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจให้ปรับตัวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย (1)

 แนวคิด “Action Green Transition” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ยังเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมตั้งแต่พลังงานสะอาด ระบบขนส่งคาร์บอนต่ำ อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเกษตรและพฤติกรรมการบริโภคที่ยั่งยืน นอกจากนี้การพัฒนาระบบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับจังหวัดและการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (4)

อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญยังอยู่ที่งบประมาณคาร์บอนของโลก ซึ่งถูกใช้ไปแล้วกว่า 83% และคาดว่าจะลดลงอีก 77% ภายในปี 2030 หากไม่สามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1.5°C ได้ วิกฤตสภาพภูมิอากาศจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมหาศาล ดังนั้น 197 ภาคี รวมถึงประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งหามาตรการป้องกันและปรับตัว เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4)

ในด้านความร่วมมือระดับโลก ประเทศไทยเองก็ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติว่า เป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืนและการสนับสนุน SMEs (ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง) ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการมีกรอบนโยบายที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ และความมุ่งมั่นของภาคเอกชนในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน (5)

การเปลี่ยนผ่านสีเขียวจึงไม่เพียงแค่เป็นความท้าทาย แต่ยังเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน รวมถึงการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ จะช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ตามเป้าที่วางไว้ พร้อมทั้งจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนในทุกมิติอีกด้วย (5)

 

อ้างอิง:

(1) https://www.bot.or.th/…/economic-pulse-no1-green…

(2) https://www.weforum.org/…/energy-transition-countries…/

(3) https://www.bangkokbiznews.com/environment/1130853

(4) https://www.thansettakij.com/climatecenter/net-zero/607778

(5) https://thailand.un.org/th/284970-สหประชาชาติ-ชูไทยเป็นผู้นำ-green-transition-สู่ความยั่งยืนที่ครอบคลุม

(6) https://www.trade.gov/energy-resource-guide-thailand-renewable-energy 

Copyright @2021 – All Right Reserved.