ข้อมูลดาวเทียมที่รวบรวมโดย Polar Portal ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันวิจัยของรัฐบาลเดนมาร์กพบว่า กรีนแลนด์ได้สูญเสียน้ำแข็งไปแล้วกว่า 4,700 พันล้านเมตริกตันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หรือปริมาณมากพอที่จะทำให้น้ำท่วมทั้งสหรัฐอเมริกาในระดับ 0.5 เมตร
การสูญเสียน้ำแข็งนี้มีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.2 เซนติเมตร ในเวลาเพียงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่การสำรวจการละลายของธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ของนาซ่าจากภารกิจ Oceans Melting Greenland ที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2021 คาดการณ์ว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 7.4 เมตร
ข้อมูลจากการศึกษาในระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ถึงเดือนสิงหาคม 2564 โดยอิงจากการสังเกตการณ์ของดาวเทียม Gravity Recovery And Climate Experiment (GRACE) ที่เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2545 แสดงให้เห็นว่าการสูญเสียน้ำแข็งของกรีนแลนด์นั้นรุนแรงที่สุดบริเวณชายฝั่งโดยที่น้ำแข็งจะบางลงอย่างรวดเร็วและไหลออกสู่มหาสมุทร
โดยเฉพาะบนชายฝั่งฝั่งตะวันตกของกรีนแลนด์สูญเสียน้ำแข็งมากที่สุด ซึ่งคาดว่าน้ำใต้ผิวดินที่ร้อนจัดเป็นสาเหตุทำให้น้ำแข็งละลายมากขึ้นตามรายงานของนาซ่า (ภารกิจ GRACE เป็นโครงการร่วมของ NASA และ German Aerospace Center)
แอนดรูว์ เชพเพิร์ด หัวหน้าทีมวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยลีดส์ในสหราชอาณาจักร กล่าวกับนาซ่าว่า “ตามกฎง่าย ๆ สำหรับทุกเซนติเมตรที่เพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลโลก ผู้คนอีก 6 ล้านคนต้องเผชิญกับน้ำท่วมบริเวณชายฝั่งทั่วโลก
“จากแนวโน้มปัจจุบันน้ำแข็งกรีนแลนด์ที่ละลายจะทำให้ผู้คน 100 ล้านคนถูกน้ำท่วมในแต่ละปี และภายในสิ้นศตวรรษนี้จะมีผู้คนประมาณ 400 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น” เชพเพิร์ดระบุ
ที่น่าจะตกใจมากกว่านั้นตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติระบุว่า แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 7.4 เมตรแล้ว ในขณะเดียวกัน แอนตาร์กติกามีน้ำแข็งเพียงพอที่จะเพิ่มระดับน้ำทะเลทั่วโลกได้มากกว่า 60 เมตร หากละลายจนหมด
อย่างไรก็ตาม นาซ่ากำลังมีโครงการสำรวจใต้ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ครั้งแรกที่จะเริ่มในปี 2023 โดยจะหุ่นยนต์ใต้น้ำดำลงไปสำรวจบริเวณที่ลึกที่สุดใต้ธารน้ำแข็งสามแห่ง คือ Kangilliup Sermia, Umiammakku Sermiat และ Kangerlussuup Sermia ซึ่งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของกรีนแลนด์
ยานใต้น้ำสำหรับภารกิจนี้คือ Nereid Under Ice (NUI) ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจครั้งนี้นักวิจัยจะมาทำนายผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้อย่างแม่นยำขึ้น และเชื่อว่าการศึกษานี้จะสามารถช่วยให้โลกซื้อเวลาได้มากขึ้น ท่ามกลางความพยายามในการลดพลังงานคาร์บอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อ้างอิง:
- Brandon Specktor (Feb 03,2022) “Greenland lost enough ice in last 2 decades to cover entire US in 1.5 feet of water” . Livescience
- Ron Jefferson (Feb 01, 2022) “First-Ever Exploration Under Greenland’s Ice Sheet Using Robotic Submarine to Study Global Rise Of Sea Level Scheduled for 2023” . The ScienceTimes