น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายลงทะเล
เทียบเท่าสระโอลิมปิก 2.4 ล้านสระ

by IGreen Editor

ฤดูร้อนของซีกโลกเหนือนับวันยิ่งเลวร้าย มันไม่ใช่แค่ร้อนจัดมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดไฟป่าถี่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังทำน้ำแข็งในแถบใกล้กับขั้วโลกละลายเร็วขึ้นเรื่อยๆ – แน่นอนว่าทันทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อยุโรปร้อนจัด แต่ไทยเย็นฉ่ำกับฝนก็ไม่ควรจะนิ่งนอนใจ

แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์เป็นแหล่งน้ำแข็งที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก แผ่นน้ำแข็งยาวเกือบ 2,900 กิโลเมตร ในแนวเหนือ-ใต้ และมีความกว้างมากที่สุดคือ 1,100 กิโลเมตร ที่ละติจูด ที่ 77 องศาเหนือใกล้ขอบด้านเหนือ มีความหนาเฉลี่ยประมาณ 1.5 กม. และมากกว่า 3 กม. ที่จุดที่หนาที่สุด

แผ่นน้ำแข็งมีอัตราส่วนประมาณ 80% ของพื้นผิวกรีนแลนด์ หากน้ำแข็งทั้งหมด 2,850,000 ลูกบาศก์กิโลเมตรละลายจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 7.2 เมตร

ล่าสุด แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์มีอัตราและขอบเขตการละลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่น้ำ 18,000 ล้านตันไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือในเวลาเพียง 3 วัน และภาพถ่ายจากดาวเทียมเผยให้เห็นบ่อน้ำบนแผ่นน้ำแข็งที่เกิดจากการหลอมละลายซึ่งปกคลุมบริเวณน้ำแข็งโดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง

เท็ด สแกมบอส (Ted Scambos) นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดที่โบลเดอร์ กล่าวว่า การสูญเสียน้ำแข็งเฉพาะช่วงวันที่ 15-17 ก.ค. ทำให้เกิดระดับน้ำเพียงพอที่จะเติมสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกได้ถึง 2.4 ล้านสระ และอากาศร้อนลุกลามไปถึงตอนเหนือของกรีนแลนด์ด้วย หมายความว่ามันแผ่ขยายในวงกว้างแล้ว

เนธาน เคิร์ตซ์ (Nathan Kurtz) นักวิทยาศาสตร์น้ำแข็งของศูนย์ NASA Goddard Space Flight Center กล่าวกับ U.S. TODAY ว่า จากข้อมูลแสดงให้เห็นการสูญเสียน้ำแข็งจากกรีนแลนด์ประมาณ 2 แสนล้านตันต่อปีในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา “การสูญเสียน้ำแข็งนี้มีส่วนโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลกซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมอย่างมีนัยสำคัญ”

ด้าน ซาเวียร์ เฟตไวส์ (Xavier Fettweis) จากมหาวิทยาลัยลิเยจ กล่าวว่า การละลายของน้ำแข็งในปัจจุบันเป็นหนึ่งในสองการละลายที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แผ่นน้ำแข็งหลังเหตุการณ์การละลายในปี 2012 และ 2019 โดยในปี 2019 ปริมาณการละลายอยู่ที่ประมาณ 527,000 ล้านตัน

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2020 วารสาร Communications Earth and Environment วารสาร Nature Research ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่อง “การสูญเสียน้ำแข็งเชิงพลวัตรจากแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ที่ขับเคลื่อนด้วยการถดถอยของธารน้ำแข็งอย่างยั่งยืน”

สถานการณ์ดังกล่าวได้ผ่านพ้น “จุดที่ไม่มีวันหวนกลับ” และเกิดจากสาเหตุ จากปัจจัยสองประการคือ การไหลบ่าของน้ำที่ผิวน้ำละลายเพิ่มขึ้นและการระเหยของธารน้ำแข็งที่ปลายทางในทะเล และการหลอมละลายของน้ำแข็งใต้น้ำ

ข้อมูลจาก
• Andrew Freedman. (JULY 25, 2022). “Greenland ice melt kicks into high gear”. Axios.
• Saleen Martin. (JULY 25, 2022). “Greenland hit with ‘unusually extensive’ melting of ice sheet, boosting sea levels, scientists say”. phys.org.
ภาพ – Silvan Leinss/wikipedia

Copyright @2021 – All Right Reserved.