จาก COP27 ถึง APECกรุงเทพ กระบวนการฟอกเขียวย้อมแมวคนดู

“กลุ่มอำนาจทางการเมืองนำคำว่า ‘สีเขียว’ ไปฟอกตัวเองโดยโยนแก่นกระบวนการสีเขียวของภาคประชาสังคมทิ้งไป แต่เอาสีเขียวมาปรากฏในรูปแบบใหม่ๆ รัฐทุกรัฐมักอิงความเป็นสีเขียวเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ซึ่งเป็นวาทะกรรมชุดใหม่ที่เอามาใช้” ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานโครงการ Thai Climate Justice for All – TCJAClimate กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “เอเปก 2022 ฟอกเขียวกลุ่มทุนผูกขาด” จัดขึ้นช่วงการประชุมเอเปก 2022 ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 65 ถ่ายทอดผ่านช่อง Friends Talk

เขากล่าวว่า การประชุมเอเปกเป็นหนึ่งในเวทีของกระบวนการฟอกเขียวของประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ซึ่งประเด็นของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติทั่วโลกมี 3 เรื่องใหญ่ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงที่สุดคือกลุ่มทุนพลังงาน สองกลุ่มทุนเกษตรเคมีและเกษตรขนาดใหญ่ กลุ่มทุนเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและมลภาวะสิ่งแวดล้อม โดยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องกดดันมากที่สุดที่มากระทบมากที่สุดและต้องปฏิรูป ควบคุมหรือต้องรื้อถอนระบบทุนนิยมของโลกที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิล นี่เป็นเหตุผลที่กระแสการฟอกเขียวบานสะพรั่ง จึงเกิดวาทะกรรม green capital green growth หรือ BCG ก็เป็นลูกกระจ๊อกของคำว่า green capital green growth ที่ถูกนำมาสร้างภาพ

ประเด็นที่สอง เราจะเข้าใจเอเปกอย่างไร เราไม่เห็นรายละเอียดข้อตกลงการเจรจา นอกจากหัวข้อใหญ่ๆ เช่น การค้าคาร์บอนจะตกลงแลกเปลี่ยนธุรกิจกันอย่างไร เรื่องป่าไม้ อุตสาหกรรม และวิธีการดูเรื่องเอเปก ไม่ใช่ดูแค่ข้อตกลงเพราะทุกครั้งข้อสรุปมักจะจบด้วยคำสวยหรูเสมอ เช่น คำว่า BCG, green ต้องดูตัวกระทำการที่ใช้เวทีเอเปกและเวทีอื่นๆ ในการหาข้อตกลง แสวงหาข้อตกลงหรือประโยชน์ จึงต้องดูตัวกระทำการทั้งระดับโลกที่เป็นสมาชิกเอเปกและที่อยู่ในไทยซึ่งเกี่ยวกับกลุ่มทุนใหญ่ๆ

ดร.กฤษฎา บุญชัย ในรายการ Friends Talk

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสังคมการเมืองเศรษฐกิจโลก ซึ่งกระแสสีเขียวหรือฟอกเขียวที่เป็นกระแสใหญ่ที่สุดที่ถูกนำมาใช้เคลือบทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นทุกบริษัท ทุกกลุ่มทุน ทุกรัฐจะประกาศว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน จะสามารถ สู่ Net Zero ถ้าเอาสองเรื่องนี้มาโยงกันจะไม่สามารถเห็นเอเปกจากหน้าฉาก แต่เป็นสิ่งที่อยู่ภายในกระบวนการเคลื่อนไหวที่เขาขับเคลื่อนกันมาก่อนว่าจะแสวงประโยชน์หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร

เอเปกคือ 21 เขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60% ของโลก แต่สมาชิกในเอเปกกำลังเผชิญผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติถึง 70% หมายถึงประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เกิดความเหลื่อมล้ำและสร้างผลกระทบมากที่สุดของโลก และมีทั้งผู้สร้างผลกระทบและผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ในนี้

สำหรับในอาเซียน ไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับ 9 โดยกลุ่มทุนในไทยโดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ดูจากแผน PDP จะเห็นว่าสัดส่วนใหญ่ยังอยู่ที่พลังงานฟอสซิลและผลิตพลังงานสำรองสูงผิดปกติ โดยกำหนดไว้ถึง 60% และจำนวนนี้คือเอกชนรายใหญ่ที่ได้สัมปทานรายใหญ่ ต่อให้ NDC หรือเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศจะลดการปล่อยก๊าซลง แต่ไทยจะทำให้บรรลุผลหรือ เพราะการผลิตถ่านหินยังมี สัดส่วนก๊าซธรรมชาติก็เติบโตมากขึ้น อย่าไปคิดว่าก๊าซธรรมชาติดีเพราะมีคำว่าธรรมชาติ  แต่จริงๆ คือการเติมคำว่า Natural เข้าไปเท่านั้นและมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะไทยต้องการเป็นฮับเรื่องก๊าซธรรมชาติที่มี ปตท.เป็นตัวนำ คำถามคือที่เราไปสัญญากับโลกหรือโลกสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเท่านั้นเท่านี้ มันถึงมีคำพูดที่ว่าบลาๆ ๆ ๆ อย่างที่เกรต้า ธุนเบิร์ก กล่าวไว้ เพราะมันไม่จริงเลย

เรากำลังจะเป็นศูนย์พลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมไปยังอาเซียนซึ่งมีแผนที่จะโตขึ้นๆ ไม่ได้ลดลง โดยที่พลังงานทางเลือกน้อยมาก สัดส่วนหลักยังอยู่ที่ก๊าซธรรมชาติ

จากการศึกษาของ Bloomberg New Energy Finance (BNEF) พบว่า ไทยจะขยายโครงข่ายก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับอาเซียน โดยมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้มาหนุนหลัง มูลค่า 3.8 แสนล้านดอลลาร์ โดยอ้างว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน แต่จริงๆ ไม่ผ่าน แต่จะอยู่ด้วยพลังงานเหล่านี้ แล้วก็จะไปแก้โลกร้อนด้วยเทคนิคอื่นๆ เช่น จะใช้ Carbon Capture

ดังนั้นการคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา ไม่อาจเป็นไปได้ มีแต่จะทะลุไป 2 องศา หรือแตะ 3 โดยมีวิกฤตยูเครน-รัสเซียมากระตุ้นและกลุ่มทุนฉวยโอกาสให้พลังงานฟอสซิลเติบโตไปอีก

ประเด็นคือ เรากำลังเผชิญค่าไฟแพง ทั้งที่ก๊าซที่รับซื้อจากเมียนมาและมาเลเซียในราคาถูก แต่พลังงานเหล่านี้ไม่เอามาผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แต่ส่วนสำคัญเอาไปทำปิโตรเคมี ปตท.ก็ทำปิโตรเคมีและใช้ก๊าซราคาถูกที่รับซื้อมาหรือที่ขุดจากอ่าวไทย แต่เราต้องนำเข้า LNG ราคาแพงลิ่วเอาลงเรือมาเพื่อมาผลิตไฟฟ้าที่ทำให้คนไทยจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้นเพราะ LNG มันสูงกว่าก๊าซที่ได้จากเมียนมาและอ่าวไทยหรือจากมาเลเซีย นี่คือความซ่อนเงื่อนที่ทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้โต และผลักภาระมาให้ประชาชน

ดังนั้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้มาแค่ลมฟ้าอากาศ แต่มาจากพลังงานที่คุณต้องจ่ายสูงขึ้น มาจากค่าอาหารที่คุณต้องจ่ายแพงขึ้น มันมาจากปัจจัยอื่นๆ ในการยังชีพที่มากขึ้น มันจึงไม่ได้แค่ชนบท คนจนเมืองก็ได้รับผลกระทบด้วย

ถ้าไปดูกลุ่มทุนกระดับโลกที่ปรากฏนามในและนอกเอเปก ซึ่งจะเห็นว่า เป็นการฟอกเขียวด้วยภาษาสวยๆ ว่า Natural Base Solution วิธีการคือการลงทุนปลูกป่า แล้วเอาคาร์บอนเครดิตมาหัก ถ้าเข้าใจลึกซึ้งเป็นการแปลงธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิตของทุน

ในไทยมีบริษัทเซลล์ที่มีบทบาทสำคัญในการปลูกป่าที่นอกเหนือจาก ปตท.และอีกหลายบริษัท บริษัทเหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงมาก โดยเฉพาะบริษัททใหญ่ๆ ของโลก เช่น เซลล์ เอ็กซอล เชฟรอน ซึ่งทุกบริษัทประกาศจะเป็นกลางทางคาร์บอนและทุกบริษัทมีภาษาสีเขียวทั้งนั้นเลย แต่การผลิตพลังงงานฟอสซิลกลับโตขึ้น เราจึงเจอโลกที่แยกส่วนหรืออำพราง ด้านหนึ่งเราบอกสีเขียว แต่อีกด้านคือกระบวนการฟอกผลประโยชน์เหล่านี้

นอกจาก Natural Base Solution คือ GEO Engineering หรือวิศวภูมิศาสตร์ โดยสหรัฐ จีน และอื่นๆ จะใช้เครื่องมือนี้ เช่น ถ้าลดภาวะโลกร้อนไม่ได้ ก็จะเอาเครื่องมือเทคโนโลยีเหล่านี้มาแก้ อาทิ การฉีดก๊าซแอโรซอล (aerosol) เข้าไปในก้อนเมฆหรือชั้นบรรยากาศเพื่อสะท้อนความร้อนออกไปหรือทำให้พื้นที่นั้นเย็นลง หรือไปกระตุ้นให้สาหร่ายในทะเลโตขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะมันจะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เยอะ หรือ Carbon Capture Storage ที่จะเอาคาร์บอนในบรรยากาศมาอัดลงไปในหลุมขุดเจาะน้ำมัน หรือหลุมก๊าซธรรมชาติหรืออัดแท่ง ซึ่ง ปตท.ประกาศจะทำเรื่องนี้แล้วทั้งที่เราไม่รู้ว่าปัญหามันกระทบกว้างใหญ่แค่ไหน

คำถามคือไม่ลดของตัวเอง แต่เอาวิธีเทคโนโลยีมาตอบ เช่น GEO Engineering สิ่งเหล่านี้เคยถูกนำมาถกในเวทีสหประชาชาติ โดยสหรัฐ บราซิล ซาอุฯ ต้องการให้เดินหน้าเรื่องนี้ แต่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กำลังประท้วง

เรื่องที่ 3 คือ ธุรกิจการเกษตร ปุ๋ยเคมีที่มาจากปิโตรเคมี ซึ่งทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซัลเฟอร์และก๊าซอื่นๆ การเติบโตของปุ๋ยไม่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นปัจจัยกระตุ้น แต่ไปโทษเกษตรกรที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ไทยใช้ปุ๋ยเคมีมหาศาลอันดับต้นๆ ของโลก  และกลุ่มทุนปุ๋ยเคมีทั้งการใช้และผู้ผลิตขนาดใหญ่ของโลกก็อยู่ในเอเปก เช่น สหรัฐ ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมโลก และบริษัทเหล่านี้ก็บอกว่าจะทำ Smart Agricuture ที่จะดูดคาร์บอน ไม่พลิกหน้าดิน ไม่จุดไฟเผา และก็ชี้นิ้วไปที่กะเหรี่ยงที่ทำเกษตรหมุนเวียนและเกษตรกรที่จุดไฟให้เกิดฝุ่น PM

จากปุ๋ยเคมีไปสู่ฟาร์มคาร์บอน เมื่อก่อนมีคำว่า Land Grabbing หรือการกว้านซื้อที่ดิน แต่ตอนนี้เป็นการเจรจากับเกษตรกรที่มีระบบค่อนข้างดีเพื่อทำข้อตกลงในลักษณะ Contract Farming เพื่อไม่ให้มีการไถพรวนหน้าดิน ไม่จุดไฟเผาฟาง โดยเขาจะซื้อคาร์บอนเครดิตโดยเริ่มมีเอเจนท์มาเจรจาแล้ว โดยทำเป็นแอปพลิเคชันเพื่อเอาคะแนนไปแลกของ ปุ๋ย เครื่องจักรการเกษตร ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นการหลอกซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกร แต่มันหมายถึงสิทธิในที่ดินในการผลิตของเขาก็จะถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และไม่ได้เป็นผลประโยชน์แค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เขาสามารถคุมประเภทการผลิตและตลาดของเกษตรกรกลุ่มที่เดินเข้าสู่ฟาร์มคาร์บอน ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ

บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทซอฟแวร์ บริษัทด้านอุตสาหกรรมระดับโลกในสหรัฐ บราซิล ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และอื่นๆ กำลังขยายลงทุนเรื่องฟาร์มคาร์บอนที่ใหญ่ ดังนั้นการแย่งยึดที่ดินจึงเกิดทั้งภาคเกษตรและภาคป่าไม้เพื่อเอามาแบกรับภาคพลังงานและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหล่านี้

มาถึงกลุ่มทุนไทย รัฐบาลบอกว่าเราจะเพิ่มความทะเยอทะยานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้า 550 ล้านตันคาร์บอน ปัจจุบันอยู่ที่ 300 กว่า ซึ่งเป็นการตั้งไว้สูงและบอกว่าจะลด 40% ซึ่งจะอยู่ที่ 333 ซึ่งถือว่าลดน้อยมาก และเมื่อเราไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม เราจึงไปเอาภาคป่าไม้มาแบกรับ รัฐบาลประกาศจะปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ร้อยละ 55 ในปี 2037 จะต้องมีป่าเพิ่มอีก 11 ล้านไร่ คำถามก็คือจะไปเอาที่ที่ไหนมาปลูกเพราะเป็นที่อยู่อาศัยประชาชน หรือกรณีป่าชายเลนจะไปปลูกที่ไหนเพราะแน่นไปหมด วิธีคือตัดป่าชายเลนแล้วก็ปลูกใหม่

อย่ามองว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย ผมยกตัวอย่างคลาสติกของประเทศยูกันดา กลุ่มทุนของนอร์เวย์จะไปปลูกป่าจึงติดต่อกับรัฐบาลๆ ก็หาที่ให้เลย โดยรัฐบาลก็ไปไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่และปลูกป่าโดยมีสถาวิชาการมาให้การรับรองว่าสามารถดูดซับคาร์บอนได้กี่ตัน คำถามคือคาร์บอนขายไปไหน ปรากฎว่าสถาบันของนอร์เวย์นำไปขายต่อให้กับกระทรวงพลังงานของสวีเดน และกระทรวงนี้ก็เอาไปถัวเฉลี่ยกับการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งประชาชนที่ยูกันดาและที่สวีเดนไม่รู้เรื่องเลยว่ามีการถ่ายโอนภาระผลกระทบและเป็นการถ่ายผลประโยชน์ไปสู่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ สุดท้ายก็จะมีการประกาศการเป็นกลางทางคาร์บอน

สำหรับประเทศไทยขณะนี้รัฐบาลมอบหมายให้กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหัวหอกในการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า และเขียนไว้ในแผน BCG ด้วย และเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา ครม.มีมติให้เอกชนมาปลูกป่าในป่าสงวนได้ จากเดิมที่สวนป่าเป็นประเด็นขัดแย้งกับประชาชน ตอนนี้เปิดให้เอกชนมาปลูกเพื่อคาร์บอนเครดิต โดยมีตัวเลขเบื้องต้น ปตท. 1 หมื่นว่าไร่ เชลล์มีเป้าหมาย 3 หมื่นกว่าไร่ และอื่นๆ อีก ซึ่งป่าไม้ที่จะมารองรับภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรมที่มันใหญ่มากมันไม่พอ นักวิทยาศาสตร์เคยคำนวณว่าต่อให้ปลูกป่าทั้งโลกให้เต็มให้หมดก็ไม่สามารถดูดคาร์บอนได้ หรือไม่พอหรอก ต่อให้เราเพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 55 ก็ไม่พอในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากภาคพลังงาน อุตสาหกรรมและเกษตรขนาดใหญ่ได้

ขณะนี้ชาวบ้านหลายพื้นที่กำลังถูกหลอกว่าจะได้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต จะได้เงินจากคาร์บอนเครดิต ซึ่งอุตส่าห์รักษาป่ามาตั้งนาน รัฐบาลก็ไม่เคยสนับสนุนอะไรเลย ไม่มีใครเหลียวแล เขาอาจจะได้อาหาร ทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างจำกัดจำเขี่ย แต่มีคนไปบอกว่าคุณจะได้คาร์บอนเครดิตคุณจะได้เงิน แต่ไม่มีใครบอกเลยว่าเมื่อชาวบ้านเอาคาร์บอนเครดิตไปขายแล้ว คาร์บอนเครดิตไปไหน ก็ไปเหมือนยูกันดาที่ผมบอก และคนที่มาซื้อจะเป็นโบรกเกอร์ที่ไม่มีประวัติด่างพล้อยซึ่งเป็นนายหน้าที่มาลงทุนเรื่องคาร์บอนเครดิตและคุณจะไม่สามารถสาวไปถึงคนที่จะซื้อต่อไปเลย

นี่คือห่วงโซ่ของคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ไม่มีพรรคการเมืองไหน สถาบันวิชาการหรือนักเศรษฐศาสตร์ไหนออกมาตั้งคำถามกับความฉ้อฉลนี้หรือระบบตลาดคาร์บอนนี้สักเท่าไหร่เลย

ตอนนี้สภาอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์กลางรับซื้อคาร์บอน และกำลังบุกเบิกธุรกิจใหม่ เช่น EV จะเพิ่มส่วนแบ่งรถ EV ร้อย 69 ของตลาดรถ แต่ประชาชนยังไม่พลังงานหมุนเวียนใช้เลย แล้วรถ EV คันละกี่ล้าน แสดงว่า BCG เอเปกหรือการเคลื่อนไหของกลุ่มทุนไม่ได้ให้คำตอบเรื่องการทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร ผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไง และจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตและมีความเข้มแข็งต่อไปในอนาคตยังไง

สรุปแล้วเอเปกคืออะไรกันแน่ ก็คือตลาดการลงทุน โดยคาร์บอนเป็นเรื่องหนึ่งของกระบวนการฟอกเขียวเหล่านั้น หรือเป็นเวทีหนึ่งในหลายๆ เวทีที่เป็นการวมตัวกันของกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลก เอเปกไม่ได้จะลดตัวเองลงเลยในการตอบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กำลังขยายตัวในทุกด้านๆ ด้านพลังงาน ด้านอุตสาหกรรม ด้านอื่นๆ มันคือการฟอกเขียวครั้งใหญ่ และเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ตอนนี้จีนคือตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้นมา และเป็นฐานของกลุ่มทุนการเกษตรขนาดใหญ่ที่ใช้ทรัพยากรมหาศาล

ฉะนั้นการฟอกเขียวคือ 1) ฟอกเรื่องภาพลักษณ์ทำให้ดูดีเรื่องสิ่งแวดล้อม 2) เครื่องมือการหาประโยชน์ใหม่และครั้งใหญ่ 3) การสร้างอำนาจนำในการกำหนดนโยบายสาธารณะจากกลุ่มทุนที่มีปัญหาและถูกวิพากษ์วิจารณ์ และ 4) อำนาจนิยมทุกประเภทรวมทั้งรัฐ และนำเรื่องสีเขียวมาฟอก

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่