กรมลดโลกร้อนจับมือราชทัณฑ์ กำจัดขยะอินทรีย์ขับเคลื่อนเรือนจำสีเขียว

กรมลดโลกร้อน MOU กรมราชทัณฑ์ ขับเคลื่อนเรือนจำสีเขียวจัดการขยะอินทรีย์ ด้วย “หนอน BSF” พร้อมขยายผลสู่ 143 แห่งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 กระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การขับเคลื่อนเรือนจำสีเขียว ด้วยนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ โดย Black Soldier Fly (หนอน BSF) พร้อมขยายผลสู่ 143 เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการขยะมูลฝอยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งกว่าร้อยละ 35-40 ของขยะมูลฝอยชุมชนเป็นขยะเศษอาหาร นโยบายด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน จึงมุ่งเน้นการลดปริมาณขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ตามหลัก 3R (Reduce Reuse และ Recycle) และการคัดแยกขยะ เพื่อนำขยะมูลฝอยแต่ละประเภทไปกำจัดอย่างถูกวิธีและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

กระบวนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่ใช้ในปัจจุบัน อาทิ ระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล ระบบหมักทำปุ๋ย ระบบหมักแบบไร้อากาศ การเผาในเตาเผาและเผากลางแจ้ง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 8.66 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการปล่อยในภาคของเสียทั้งหมด (16.88 MtgCO2eq) (ข้อมูล ณ ปี 62) กรมลดโลกร้อนจึงได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ในการจัดการขยะเศษอาหารที่ต้นทางอย่างเหมาะสมด้วยหนอน BSF

ทั้งนี้ ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เรือนจำและทัณฑสถานในรูปแบบออนไลน์กว่า 136 แห่ง และลงมือปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง 7 แห่ง พบว่า สามารถจัดการกับขยะเศษอาหารได้ดี และยังนำผลผลิตจากหนอน BSF ไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ทั้งเป็นอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์ การลงนาม MOU นี้ จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของการขยายผลแนวทางการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างแท้จริง

ด้าน นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการควบคุมและแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องราชทัณฑ์ ปัจจุบันมีผู้ต้องราชทัณฑ์ จำนวน 277,950 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ต.ค. 67) ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงในทุกองคาพยพของสังคม และเป็นพลังที่จะมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยร่วมทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์เพื่อสร้างสังคมน่าอยู่ อาทิ ลดปริมาณขยะ ปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ

ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้ในนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ ด้วยการใช้หนอน BSF ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและกิจกรรม Green Prison เรือนจำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณขยะเศษอาหาร และยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการเกษตร ลดต้นทุนอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์

อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะภายในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศอีกด้วย โดยในปัจจุบัน มีเรือนจำและทัณฑสถานที่ดำเนินการเลี้ยงหนอน BSF เพื่อใช้ในการจัดการขยะอินทรีย์แล้ว จำนวน 17 แห่ง ซึ่งการลงนาม MOU นี้จะเป็นการสร้างความร่วมมือและนำไปสู่การขยายการดำเนินงานไปยังเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป

​ทั้งนี้ ภายใต้ MOU ดังกล่าวทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการจัดการขยะอินทรีย์และขยะเศษอาหารในเรือนจำและทัณฑสถาน การนำผลผลิตที่ได้ไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร ทั้งการใช้เป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ รวมถึงการประเมินปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะมูลฝอยภายในเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อก่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และลดผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

สำหรับวิธีเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly: BSF) พบได้ในสภาพภูมิอากาศเขตร้อนและเขตอบอุ่น รวมถึงพบได้ทั่วไปในประเทศไทย เป็นแมลงที่ไม่เป็นพาหะนำโรค ไม่เป็นศัตรูพืช และไม่สร้างความรำคาญแก่ประชาชน แมลงวันลายมีลำตัวสีดำ ตัวเต็มวัยมีขนาดประมาณ 20 มิลลิเมตร มีวงจรชีวิตประมาณ 42 – 45 วัน
แมลงวันลายถือเป็นนักกำจัดขยะอินทรีย์ เนื่องจากมีความสามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งเศษอาหาร ขยะเปียกจากชุมชน ตลอดจนเศษไม้ต่างๆ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดโลกร้อนในภาคของเสีย

การเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายสามารถทำได้ง่ายๆ ใน 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. การล่อไข่หรือการดักไข่แบบธรรมชาติ โดยการนำเศษอาหารและเศษผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวใส่ลงในถังดำและปิดฝาทิ้งไว้ 1 – 2 เดือน ซึ่งจะทำให้หนอนแมลงวันลายเจริญเติบโตแล้วจึงนำมาเลี้ยงในเศษอาหารภายในโรงเรือนเพื่อเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้

2. วิธีเพาะไข่หนอนแมลงวันลาย โดยการนำไข่ของหนอนมาเพาะในโรงเรือนที่เตรียมไว้ โดยนำไข่มาวางบนภาชนะที่แห้ง จากนั้นจึงนำไปวางบนอาหารที่เตรียมไว้ และทิ้งไว้ 3 – 4 วัน ไข่ก็จะฟักตัวเป็นหนอน และเมื่อผ่านไป 7 วันก็ย้ายไปใส่ในภาชนะที่ขนาดใหญ่ขึ้น เช่น กาละมัง เป็นต้น

3. เมื่อหนอนแมลงวันลายอายุได้ 7 วัน ก็สามารถนำมาเลี้ยงเพื่อใช้ย่อยเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ได้ โดยใช้อัตราส่วน คือ น้ำหนักของหนอน 1 กิโลกรัมต่อเศษอาหาร 1 กิโลกรัม โดยขยะอินทรีย์ที่นำมาใช้ควรย่อยสลายได้ง่าย มีลักษณะเนื้อและเปลือกไม่แข็งมาก

4. เมื่อหนอนแมลงวันลายอายุได้ 15 – 20 วัน จะมีลักษณะลำตัวสีน้ำตาลและดำ ซึ่งจะเป็นระยะที่กินอาหารน้อยลงหรือไม่กินอาหารจึงควรลดปริมาณอาหาร หรือคัดแยกตัวสีดำออกไปใส่ภาชนะใหม่ที่ใส่แกลบดินหรือขี้เลื่อยเพื่อให้หนอนเข้าสู่ระยะดักแด้

5. นำภาชนะที่แยกตัวสีดำของหนอนแมลงวันลายไปวางในโรงเรือนมุ้งลวดประมาณ 10 – 15 วัน ดักแด้ก็จะกลายเป็นแมลง ซึ่งสามารถล่อไข่แมลงได้ตามที่ระบุในขั้นตอนที่ 1 อีกครั้ง

นอกจากนี้หนอนแมลงวันลาย ยังสามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้แก่ ไก่ ปลาดุก กบ เพื่อลดต้นทุนอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ได้ และยังมีการแปรรูปเป็นอาหารอัดเม็ดสำหรับเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย ทั้งนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน ตลอดช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการจัดการขยะได้อย่างยั่งยืน

Related posts

ปิดฉาก COP29 ไม่ราบรื่น ประเทศร่ำรวยช่วยโลกร้อนแค่ 3 แสนล้าน

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน