เสน่ห์ของ “ตลาดโอ๊ะป่อย” ไม่ได้อยู่ที่การได้มาจับจ่ายซื้อสินค้าเหมือนตลาดอื่น ๆ ทั่วไป ทว่าเป็นตลาดริมน้ำขนาดย่อมที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ สัมผัสได้ถึงความเป็นกันเองของพ่อค้าแม่ขาย และโดดเด่นในแง่การรักษาความสะอาด โดยมีเด็กนักเรียนตัวน้อย ๆ คอยเดินเก็บและหิ้วถังขยะไปคัดแยกอยู่เป็นระยะ ๆ
“ร้านค้าทุกร้านจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติและสามารถย่อยสลายได้” ดร.ปิรันธ์ ชิณโชติ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสวนผึ้ง จ.ราชบุรี ในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงผู้ก่อตั้งตลาดแห่งนี้ร่วมกับชุมชน วัด และโรงเรียน อธิบายถึงแนวคิดของตลาด
ตลาดโอ๊ะป่อยกำหนดให้ร้านค้าต้องมาจากคนในชุมชนของ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ร้อยละ 90 โดยเฉพาะหมู่บ้านท่ามะขามที่เป็นที่ตั้งตลาดและหมู่บ้านห้วยแห้งที่อยู่ติดตลาดได้ลงทะเบียนก่อน เพื่อจัดสรรว่าใครจะขายสินค้าประเภทอะไรเท่าไหร่ กิจกรรมเท่าไหร่ DIY เท่าไหร่ ส่วนร้านที่เหลือจะดึงผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ มาเปิดร้านเพื่อสร้างสีสันและให้ตรงกับจริตของนักท่องเที่ยว
ไฮไลต์ที่มองเห็นด้วยตาของตลาดริมน้ำแห่งนี้อีกอย่างก็คือ บรรดาร้านค้าซึ่งประกอบด้วยร้านจำหน่ายอาหารคาว อาหารหวาน ตลอดจนเครื่องดื่ม จะแขวนป้าย “รับฝากขยะ” ไว้หน้าร้าน เพราะทางตลาดไม่มีนโยบายวางถังขยะไว้บริการ ทำให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ไปในตัวและไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด
“อันดับแรกเราเน้นเรื่องความสะอาด ร้านค้าจะติดป้ายให้ลูกค้าคืนช้อนซ่อมหรือคืนจานอาหารตามจุดต่างๆ พร้อมกับมีป้ายรับฝากขยะทุกร้าน เพื่อไม่ให้หมู่บ้านท่ามะขามซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาดเป็นผู้รับภาระในการจัดการขยะ เราให้ร้านค้ารับฝากขยะและนำไปคัดแยกที่หมู่บ้านของตัวเอง
“ขณะเดียวกันจะมีเด็กๆ จากโรงเรียนท่ามะขามคอยเก็บขยะ เพื่อนำไปคัดแยกด้านหลังตลาด ไม่ว่าขยะเปียก หรือขยะแห้ง ส่วนขยะพลาสติก มีไม่เกิน 1-2 ร้านที่ยังใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ร้านขายน้ำแร่ ซึ่งเป็นน้ำแร่ของสวนผึ้ง และบางร้านที่จะต้องใช้ถุงพลาสติกห่อของฝากนักท่องเที่ยว แต่ที่นี่ไม่มีการใช้หลอดพลาสติก ไม่มีถุงพลาสติกหูหิ้ว และปลอดโฟม 100%”
หลักการที่สำคัญอีกอย่างก็คือร้านค้าทุกร้านจะต้องยึดกติกาเบื้องต้นว่าความสะอาดของตลาดต้องมาก่อนการหารายได้เข้ากระเป๋าตัวเอง นั่นจึงเป็นที่มาที่ทุกร้านจะต้องให้ความสำคัญกับการเก็บขยะไปคัดแยก เพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ของแต่ละบ้าน
ดร.ปิรันธ์ ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2563 ตลาดโอ๊ะป่อย ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จะเป็นตลาด Zero Waste หรือตลาดขยะเหลือศูนย์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นตลาดแห่งแรกของประเทศไทยที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อพื้นที่ ปราศจากขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อม
“เราไม่ได้แค่ปลูกจิตสำนึกในชุมชน แต่เด็กๆ ที่มาเก็บขยะถือเป็นกุศโลบายฝึกให้เขารักและใส่ใจพื้นที่ตั้งแต่เด็ก และยังได้ทิป ทำให้มีรายได้ด้วย เด็กจะได้รู้ว่าการรักและใส่ใจพื้นที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจกับพื้นที่โดยตรง โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มาค้าขายก็จะได้รับรับผิดชอบดูแลตลาดให้สะอาด”
นี่คือตลาดชุมชนที่มีการจัดการอย่างมืออาชีพ มีสินค้าและบริการที่แตกต่าง มีการประยุกต์วิถีดั้งเดิมให้เข้ากับจริตนักท่องเที่ยวและสามารถแข่งขันกับตลาดภายนอกได้ เป็นเหตุผลให้ตลาดโอ๊ะป่อย ซึ่งเปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 14.00 น. เติบโตอย่างรวดเร็ว มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเดินทางมาไม่ขาดสาย
ตลาดเปิดตัวมาแค่ 9 เดือน มีนักเที่ยวสูงสุดถึงวันละ 1 หมื่นคน มียอดขายสูงสุด 1 ล้านบาทต่อวัน ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในแง่การจัดการ โดยเฉพาะสามารถจัดการขยะได้อย่างน่าชื่นชม อีกทั้งยกระดับการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้ในระยะยาวอีกด้วย