Green China นโยบายที่โลกจับตา

“ปกป้องสิ่งแวดล้อมเฉกเช่นปกป้องดวงตาของตน ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเฉกเช่นดูแลชีวิตของตน”

เป็นส่วนหนึ่งของคำกล่าวของสีจิ้นผิง ผู้นำจีนในพิธีเปิดมหกรรมพืชสวนโลก 2019 ที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และจุดยืนของจีนในการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามนโยบาย ‘Green China’

ท่ามกลางความร้อนระอุด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสงครามการค้าของจีน อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญของชาวจีนตอนนี้คงหนีไม่พ้น เรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรณรงค์ “การลดและแยกขยะ” ที่เป็นเรื่องใหม่ในนครเซี่ยงไฮ้ ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนก็จะเห็นแต่ป้ายรณรงค์การแยกขยะ ถังขยะตามทางเดินแบบเดิมๆ ที่กำลังถูกเปลี่ยนเป็นถังแยกขยะ ผู้โดยสารในรถไฟฟ้าที่กำลังอ่านข่าวการแยกขยะ แม่บ้านที่กำลังง่วนกับการจัดการกองขยะ หรือกระทั่งผู้คนที่กำลังถกเถียงกันว่า “ขยะชิ้นนี้ควรจะทิ้งลงถังไหนดี

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 นครเซี่ยงไฮ้ได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นว่าด้วย “การจัดการขยะ” ในนครเซี่ยงไฮ้เป็นครั้งแรก ภายหลังจากการรณรงค์การแยกขยะด้วยความสมัครใจเพียงอย่างเดียวยังไม่ได้ผลตอบรับดีเท่าที่ควร ทางการจีนจึงได้ออกมาตรการบังคับการแยกขยะฉบับนี้ขึ้น โดยมีนครเซี่ยงไฮ้เป็น 1 ใน 8 เมืองนำร่อง ซึ่งหากพลเมืองไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับสูงสุดถึง 200 หยวน (ราว 1,000 บาท) และหากบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ฝ่าฝืนอาจถูกปรับสูงสุดถึง 50,000 หยวน (ราว 240,000 บาท)

กฎหมายฉบับใหม่นี้ได้แบ่งขยะออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
·       ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษใช้แล้ว พลาสติก พาชนะแก้ว โลหะ หรือสิ่งทอ
·       ขยะอันตราย เช่น แบตเตอรี่ใช้แล้ว หลอดไฟ ยารักษาโรค สี และภาชนะบรรจุสี
·       ขยะเปียก หรือขยะชีวภาพที่เน่าเปื่อยง่าย เช่น เศษอาหาร อาหารที่หมดอายุ เปลือกและแกนผลไม้ พืชต่าง ๆ และกากสมุนไพรจีน
·       ขยะแห้ง ได้แก่ ขยะอื่นที่ไม่ได้ระบุข้างต้น

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังระบุถึงแนวทางการลดปริมาณขยะด้วยการห้ามมิให้โรงแรมต่าง ๆ จัดเตรียมอุปกรณ์แบบใช้แล้วทิ้งในห้องพัก รวมถึงงดให้บริการภาชนะแบบใช้แล้วทิ้งในร้านอาหารและธุรกิจจัดส่งอาหาร เว้นแต่ลูกค้าจะเป็นฝ่ายขอเอง ซึ่งในเวลาเพียงไม่กี่วันภายหลังระเบียบนี้ถูกนำมาใช้ มีผู้ถูกตักเตือนและจับปรับไปกันหลายรายในนครเซี่ยงไฮ้

เห็นได้ชัดว่า จีนกำลังหันมาใส่ใจในการแก้ไขปัญหา ‘วิกฤติ’ สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จากรายงานเรื่อง “What a Waste 2.0: A Global Snapshot of Solid Waste Management to 2050”ของธนาคารโลก ในปี 2561 ซึ่งประเมินสถานการณ์ปริมาณขยะทั่วโลก คาดว่าในอีก 30 กว่าปีข้างหน้า ขยะทั่วโลกจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณขยะมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์

กระทรวงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของจีนได้เปิดเผยว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ของจีนสร้างขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ปริมาณขยะเฉพาะในนครเซี่ยงไฮ้ได้พุ่งสูงถึง 9 ล้านตัน ซึ่งหมายความว่า นครเซี่ยงไฮ้ผลิตขยะเกือบ 26,000 ตันต่อวัน เปรียบเทียบได้กับการสร้างหอคอยสูงถึง 420 เมตรทุกสองสัปดาห์!!!

ปริมาณของเสียจำนวนมากนี้กำลังจะเกินขีดความสามารถของโรงงานกำจัดขยะในจีนที่จะรับได้ รวมทั้งเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ การนำขยะมารีไซเคิลหรือการแปรรูปสิ่งของใช้แล้ว ดังกฎระเบียบของนครเซี่ยงไฮ้ที่ครอบคลุมตั้งแต่การคัดแยกขยะ ระบบการขนส่ง ไปจนถึงกระบวนการกำจัดขยะเหล่านั้

ในขณะนี้ นครเซี่ยงไฮ้มียานพาหนะสำหรับการขนส่งขยะเปียกจำนวน 982 คัน สำหรับการขนส่งขยะแห้งจำนวน 3,135 คัน มีการยกระดับสถานที่ทิ้งขยะจำนวน 13,000 แห่งในเขตที่อยู่อาศัยทั่วเมือง มีการปรับปรุงถังขยะกว่า 40,000 ถังตามท้องถนน และภายในปี 2562 นี้ ทางการจีนจะทุ่มทุนกว่า 21 พันล้านหยวน (3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการก่อสร้างโรงงานแปรรูปขยะเพื่อสนองต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น

และเมื่อเปิดใช้บริการอย่างเต็มที่ในช่วงครึ่งปีหลัง จีนจะมีบริษัทที่ให้บริการโรงเผาขยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่สามารถเผาขยะในประเทศได้ปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณขยะทั้งหมดในนครเซี่ยงไฮ้ และจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 1.5 พันล้านยูนิตต่อปี

แม้ว่าจะการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานจะยังเป็นประเด็นที่อภิปรายกันถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปริมาณของก๊าซเรือนกระจก ทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซมีเทน (CH4) ที่ปล่อยออกมาจากหลุมกลบฝังขยะแบบเดิม อาจมีมากกว่า CO2 จากการเผาถึงสองเท่า นอกจากนี้ การเผาขยะยังช่วยกำจัด CH4 ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีอานุภาพสูงเข้าสู่บรรยากาศ

ภาพ: tencent.com

อย่างไรก็ตาม แนวทางการกำจัดขยะเหล่านี้ยังเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ละเมืองอาจจะมีวิธีการจัดการขยะที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม แต่ในท้ายที่สุดทุกๆ เมืองจะต้องพยายามลดขยะลง หรือเป็นเมืองปลอดขยะ เพื่อลดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจและมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะนี้ จึงเป็นความท้าทายที่สุดในการต่อสู้กับสงครามขยะกองโต โดยนครเซี่ยงไฮ้ได้มีวิธีในการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในหลายวิธี

อาทิ การตรวจสอบประเภทขยะและสะสมแต้มผ่านทางแอปพลิเคชัน การเพิ่มวิชาคัดแยกขยะในโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถม การติดตั้งถังขยะอัจฉริยะในสถาบันการศึกษา และการประชาสัมพันธ์ ผ่านทางสื่อ พื้นที่สาธารณะ และบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมสนุกไปกับการคัดแยกขยะ รวมทั้งมีอาสาสมัครที่ยินดีให้บริการช่วยคัดแยกขยะอีกด้วย

ทั้งนี้ จีนตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 ทุกเมืองในจีนหรือทุกเขตการปกครองระดับอำเภอกว่า 300 แห่ง จะต้องมีระบบการจัดการขยะและการแยกขยะที่สมบูรณ์พร้อม และไม่ว่าจีนจะบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต

แต่อย่างน้อยการจัดการขยะนี้ก็เป็นสัญญาณการเริ่มต้นที่ดีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวจีนและสร้างทัศนคติที่ใส่ใจต่อประโยชน์ส่วนรวมและตื่นตัวต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งในวันหน้าเราอาจได้เห็นภาพของคนไทยหันมาปลุกกระแสการแยกขยะนี้ด้วยเช่นกัน

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน