โลกร้อนกำลังจะทำให้มนุษยชาติถึงกาลอวสาน?

เมื่อปี 2017 มีภาพยนตร์แนวโลกาวินาศเรื่องหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะสนุก แต่ถูกนักวิจารณ์ตำหนิว่าขาดความตื่นเต้นและเอฟเฟกต์ขาดความสมจริง จนทำให้ผู้ผลิตหนังเรื่องนี้ขาดทุนไปถึง 74 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Geostorm

Geostorm มีพล็อตเรื่องที่เกือบจะโน้มน้าวผู้ชมได้อยู่แล้ว หากมันจะไม่เกินความจริงไปสักหน่อย แต่เค้าโครงมีความน่าสนใจ เพราะเล่าว่า ในปี พ. ศ. 2562 หลังจากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง ชาวโลกจึงเริ่มที่จะทนไม่ไหว ทางคณะกรรมการระหว่างประเทศ จึงเรียกร้องให้สร้างระบบดาวเทียมควบคุมสภาพอากาศที่เรียกว่า “Dutch Boy” และดาวเทียมควบคุมสภาพอากาศดวงนี้ สามารถควบคุมอภิมหาพายุที่กำลังจะโจมตีนครใหญ่ของโลกได้ ทำให้โลกรอดพ้นจากวิกฤตการณ์แบบวันโลกาวินาศ

ความคิดที่จะสร้างอะไรสักอย่างเพื่อควบคุมสภาพอากาศ เป็นความฝันของมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงเภทภัยจากภาวะโลกร้อนได้อีกต่อไป แต่มนุษย์มีศักยภาพแค่ไหนกันในการต้านทานกับภัยธรรมชาติ? คำตอบก็คือ แทบจะไม่มีเลย

ภาวะโลกร้อนอาจจะมาไกลจนถึงจุดที่ไม่อาจแก้ไขได้อีก สภาพภูมิศาสตร์ของโลกบางแห่งก็เสื่อมถอยจนไม่อาจเป็นดังเดิม ดังเช่นขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่กำลังเผชิญกับภาวะแผ่นน้ำแข็งแตกและการละลายอย่างรวดเร็ว

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภูมิศาสตร์โลกย่อมนำมาซึ่งภัยธรรมชาติ ดังที่รายงานหลายฉบับได้เตือนไว้ อย่างเบาะๆ ก็คือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจนท่วมเมืองชายฝั่ง แต่ยังมีงานวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งถึงกับระบุว่า อารยธรรมของมนุษยชาติจะถึงกาลล่มสลายภายในปี 2050 กันเลยทีเดียว

รายงานที่ว่านี้จัดทำขึ้นโดย Breakthrough National Centre for Climate Restoration เป็นองค์กรที่ปรึกษาในออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่า ปัญหาโลกร้อน “เป็นภัยคุกคามในระยะใกล้จนถึงระยะกลางต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ” ซึ่งหมายความว่าโลกร้อนกำลังจะทำให้มนุษยชาติถึงกาลอวสานในอีกไม่นาน

รายงานระบุว่า ระบบนิเวศของดาวเคราะห์โลกและระบบการดำรงชีวิตของมนุษย์กำลังจะไปถึงจุดที่หวนคืนสู่ความปกติไม่ได้ (point of no return) ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ หรือปี 2050 ซึ่งโลกของเราจะไม่สามารถใช้ดำรงชีวิตได้อีกต่อไป ทำให้เกิดการล่มสลายของประชาชาติและระเบียบสากล (1)

คำถามก็คือการประเมินนี้มีความเป็นไปได้มากแค่ไหน?

การประเมินข้างต้นให้ความรู้สึกคล้ายกับปฐมบทของภาพยนตร์เรื่อง Interstellar ซึ่งเริ่มต้นด้วยภาพของโลกที่ถูกภัยเพลี้ยรุกรานพืชผลและพายุฝุ่นที่ปกคลุมไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ทำให้โลกเริ่มจะอาศัยอยู่ไม่ได้ บางทีภาวะโลกร้อนอาจไม่ได้ส่งผลต่ออุณหภูมิที่ร้อนขึ้น น้ำทะเลที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบในด้านที่คาดไม่ถึง เช่น การเพาะปลูกและการเอาชีวิตรอดของพืชพันธุ์

รายงานฉบับนี้ได้สร้างสถานการณ์จำลองขึ้น โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศสำคัญๆ เช่น แนวปะการังหลักๆ ป่าฝนเขตอะเมซอน และในพื้นที่ขั้วโลก ผลที่ตามมาก็คือ ประชากรโลกกว่า 1,000 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นจากที่อยู่อาศัยเดิม เพราะไม่สามารถดำรงชีวิตได้ และอีก 2,000 ล้านคนจะขาดแคลนน้ำ ในเขตกึ่งเขตร้อนระบบเกษตรกรรมจะพังพินาศ และทั่วโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร (1)

หลายคนอาจจะมองเพียงแค่ว่า ปัญหาโลกร้อนแค่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียง 1 องศาก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ห่วงโซ่ในระบบนิเวศพังพินาศเหมือนโดมิโน

พลเรือเอก Chris Barrie นายทหารนอกราชการและศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารกับปัญหาโลกร้อน ได้เขียนบทความในเว็บไซต์ของ Breakthrough โดยกล่าวว่า “ในออสเตรเลียเมื่อเร็วๆ นี้เราได้เห็นและได้ยินสัญญาณเกี่ยวกับการตระหนักถึงความร้ายแรงของชะตากรรมของเรา ตัวอย่างเช่น หญิงสาวเริ่มพูดถึงการตัดสินใจที่จะไม่มีลูก และนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศยอมรับว่ากำลังเป็นโรคซึมเศร้า เพราะพวกเขาคิดว่าต้องพบกับวันโลกาวินาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต และหันไปคิดถึงครอบครัวมากขึ้น พร้อมกับย้ายไปยังที่ที่ปลอดภัยกว่า แทนที่จะทำการวิจัยเพิ่มเติม” (2)

จากข้อความของพลเรือเอกท่านนี้ แสดงให้เห็นว่าชาวโลกจำนวนหนึ่งเริ่มแสดงอาการตื่นตระหนกกับหายนะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (ในความคิดของพวกเขา)

ทางออกของเรื่อง Interstellar  คือการส่งทีมงานไปแสวงหาดาวเคราะห์ดวงใหม่พร้อมๆ กับสร้างนิคมในอวกาศเพื่อรอวันที่เราจะพบบ้านหลังใหม่ แต่แม้จะดูเหมือนสายเกินการ Breakthrough National Centre for Climate Restoration ก็ยังเสนอว่าโลกของเราพอจะมีทางออกอยู่บ้าง

รายงานชิ้นนี้แนะว่า วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของสถานการณ์นี้คือต้องระดมสรรพกำลังของชาวโลกในระดับเดียวกับการระดมพลฉุกเฉินสงครามโลกครั้งที่สอง แต่คราวนี้มุ่งเน้นไปที่ความพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เท่ากับศูนย์  เพื่อเตรียมเบนเข็มพลิกฟื้นระบบนิเวศให้เป็นดังเดิม (1)

แต่ความเป็นไปได้ที่จะจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เท่ากับศูนย์มีความเป็นได้น้อยมาก ดังนั้นข้อเสนอนี้จึงสุดโต่งเกินไป เช่นเดียวกัน แม้ว่าเราจะเห็นความหวังดีของรายงานนี้ แต่ทั้งข้อเสนอแก้ปัญหา และสถานการณ์จำลองอาจจะสุดโต่งเกินไป

สถานการณ์ในตอนนี้อาจจะเลวร้ายจนดูเหมือนจะแก้ไขอะไรแทบไม่ได้แล้ว ทว่า ในเวลาเดียวกับที่มีรายงานความเสียหายต่อระบบนิเวศแบบรายวัน เรายังมีสถิติในด้านบวกเกี่ยวกับโลกเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ในรายงาน SOFO 2018 หรือสถานการณ์ป่าไม้โลก (The State of the World’s Forests) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า พื้นที่ป่าของโลกลดลงจาก 31.6% ของพื้นที่ทั่วโลก มาอยู่ที่ 30.6% ระหว่างปี 2533 ถึง 2558 แต่อัตราความรวดเร็วในการสูญเสียพื้นที่ป่ากลับลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (3) นั่นแสดงให้เห็นว่าความพยายามของมนุษยชาติที่จะรักษา “ปอดของโลก” กำลังเริ่มเห็นผล

นอกจากนี้ SOFO ยังระบุว่า “มีหลักฐานเชิงปริมาณที่แสดงให้เห็นว่าป่าได้รับการจัดการอย่างยั่งยืนมากขึ้น ป่าและต้นไม้ยังมีส่วนช่วยในการบรรลุ SDGs (เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตและความมั่นคงด้านอาหารของคนจนในชนบทจำนวนมาก รวมถึงการเข้าถึงพลังงานราคาไม่แพง การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างยั่งยืน การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน และการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการจัดการป่าอย่างยั่งยืน” (3)

ข้อความข้างต้นบ่งชี้ว่า จากการประเมินของสหประชาชาติ แม้พื้นที่ป่าจะไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดและยังมีอัตราลดลง (เล็กน้อย) เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนๆ แต่การจัดการที่ยั่งยืนมากขึ้น มีส่วนทำให้วิถีชีวิตของผู้คน การเข้าถึงอาหารและพลังงานมีความยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดก็คือลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง

เมื่อปี 2015 – 2016 อัตราการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนปรับลดลง เนื่องจากจีนเริ่มลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน (4) นอกจากนี้ ระหว่างปี 1998 – 2012 อัตราการปรับเพิ่มของอุณหภูมิโลกยังชะลอตัวลง (5)

เมื่อมีตัวแปรที่จะยับยั้งวันโลกาวินาศได้ คำถามสำคัญคำถามสุดท้ายก็คือ เวลานี้เรามาถึงจุด point of no return ที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้วหรือยัง?

คำตอบก็คือยัง แต่เรากำลังจะไปถึงจุดนั้นในอีกไม่นาน

เพราะแม้ว่าพื้นที่ป่าจะเพิ่มมากขึ้น แต่ป่าเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ได้รับการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ส่วนการปล่อยก๊าซอันตรายและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิขาดความยั่งยืนโดยสิ้นเชิง เช่น อัตราการปล่อยก๊าซที่เคยลดลงเมื่อปี 2015 – 2016 กลับลดลงแค่นั้น ความพยายามในช่วงหลังที่จะลดก๊าซล้มเหลวลงอย่างน่าตกใจ ทำให้เวลานี้อัตราการปล่อยก๊าซไม่ได้ชะลอลง อีกทั้งการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลยังเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในรอบ 7 ปี (6)

ส่วนอุณหภูมิโลกที่เคยลดลงไปกว่า 1 ทศวรรษนั้น เป็นแค่ปรากฎการณ์ชั่วคราวจากซูเปอร์เอลนินโญ แต่หลังจากนั้นอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (5) ซึ่งข้อมูลนี้ยิ่งตอกย้ำถึงสถานการณ์ที่มนุษย์ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาปรากฎการณ์ทางธรรมชาติทำให้โลกร้อนน้อยลงชั่วคราว

สิ่งที่ Breakthrough ต้องการคือการระดมสรรพกำลังแบบเดียวกับการทำสงครามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ แต่ในเวลานี้โลกเรายังขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดของการระดมกำลัง นั่นคือผู้บัญชาการทัพและความสามัคคี

แบบที่ Geostorm  มีคณะกรรมการระหว่างประเทศนั่นเอง

อ้างอิง

1 Nafeez Ahmed. (Jun 4 2019). “New Report Suggests ‘High Likelihood of Human Civilization Coming to an End’ Starting in 2050″. https://www.vice.com/en_us/article/597kpd/new-report-suggests-high-likelihood-of-human-civilization-coming-to-an-end-in-2050

2 Admiral Chris Barrie. (30 May 2019). “Can we think in new ways about the existential human security risks driven by the climate crisis?”. http://www.climatecodered.org/2019/05/can-we-think-in-new-ways-about.html

3 FAO. “SOFO 2018 – The State of the World’s Forests”. http://www.fao.org/state-of-forests/en/

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน