โลกกำลังเดินหน้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยรายงาน Global Risks Report 2025 จาก World Economic Forum (WEF) เผยว่า วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสภาพอากาศรุนแรง และ การล่มสลายของระบบนิเวศที่กำลังเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ท่ามกลางโลกที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การแบ่งขั้วทางสังคม และภัยคุกคามจากสงครามที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้เศรษฐกิจโลกจะค่อย ๆ ฟื้นตัวจากความท้าทายหลังโควิด-19 แต่สภาพแวดล้อมโลกกลับเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานนี้ซึ่งอ้างอิงจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญกว่า 900 คนทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงหลักที่โลกต้องเผชิญในปี 2025 มีลักษณะที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกัน โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัฐ วิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ และการแบ่งขั้วทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น
หนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุดคือ ความเสี่ยงจากสงครามระหว่างรัฐ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยคุกคามอันดับ 1 ของปี 2025 อันเป็นผลจากความขัดแย้งทางทหารที่ปะทุขึ้นในหลายภูมิภาค เช่น สงครามในยูเครน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และสถานการณ์ในไต้หวัน ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ทำให้การเผชิญหน้าทางทหารและการใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าในระดับที่อันตรายมากขึ้นในอนาคต
สภาพอากาศรุนแรง (Extreme Weather Events) ยังคงเป็นหนึ่งในภัยคุกคามหลักของโลก โดยติดอันดับที่ 2 ของความเสี่ยงในปี 2025 และอันดับ 1 ของความเสี่ยงระยะยาวในปี 2035 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในทศวรรษหน้า
คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชียทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรจำนวนมาก เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในบางพื้นที่ ขณะที่บราซิลต้องเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ซึ่งทำให้มีประชาชนหลายแสนคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัย
นอกจากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบโลก (Critical Change to Earth Systems) ก็กำลังเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอัตราการละลายของธารน้ำแข็งที่เพิ่มสูงขึ้นและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังส่งผลให้เมืองชายฝั่งหลายแห่งทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมถาวร
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ (Biodiversity Loss and Ecosystem Collapse) ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงระยะยาวที่ร้ายแรงที่สุด โดยอยู่ในอันดับที่ 2 ของความเสี่ยงในช่วง 10 ปีข้างหน้า ตามรายงาน Global Risks Report 2025 ปัญหานี้เกิดจากการทำลายทุนทางธรรมชาติ อันเป็นผลมาจากการลดลงหรือการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ไม่ยั่งยืน
ตัวอย่างเช่น การใช้ทรัพยากรเกินขนาด การตัดไม้ทำลายป่า การขยายตัวของเกษตรกรรม และการพัฒนาเมืองที่รุกล้ำพื้นที่ระบบนิเวศสำคัญท ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกจัดอยู่ในวิกฤตสิ่งแวดล้อมสามประการ (Triple Planetary Crisis) ตามที่สหประชาชาติ (UNFCCC) ระบุไว้
แนวโน้มของปัญหานี้ชี้ให้เห็นว่า หากไม่มีมาตรการแก้ไขที่เร่งด่วน ระบบนิเวศสำคัญทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะล่มสลาย ส่งผลต่อทั้งความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในอนาคต
ในรายงาน Global Risks Report 2025 ระบุว่า จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก 23% ระบุให้มลพิษ (Pollution) จะกลายเป็นหนึ่งในความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดในทศวรรษหน้า โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี และปัญหานี้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 3 ของความเสี่ยงระยะ 10 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อผลกระทบที่มลพิษมีต่อสุขภาพ
มลพิษไม่ได้เพียงแค่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นปัจจัยหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยที่ 92% ของผู้เสียชีวิตจากมลพิษและต้องแบกภาระทางเศรษฐกิจตกอยู่กับผู้คนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และปานกลาง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความชัดเจนขึ้นทุกปีนั้นมีสาเหตุจากมลพิษที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ และจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงและเหตุการณ์สุดขั้วที่ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังขาดแผนที่ชัดเจนและครอบคลุมในการจัดการผลกระทบจากมลพิษที่เพิ่มขึ้นต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ ซึ่งอาจทำให้ความพยายามในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน
เมื่อมองไปข้างหน้า รายงาน WEF คาดการณ์ว่า ภายในปี 2035 โลกจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิ่งแวดล้อม หากไม่มีการดำเนินมาตรการที่เข้มข้นพอ โลกอาจเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่ไม่อาจย้อนกลับ (Point of No Return) ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงจนไม่สามารถแก้ไขได้
ปี 2025 อาจเป็นปีที่กำหนดทิศทางของทศวรรษข้างหน้า โลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ และความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของมนุษยชาติ
ที่มา: WEF Global Risks Report 2025