การประชุมแก้ปัญหาพลาสติกระดับโลก ณ เมืองปูซาน เกาหลีใต้ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้สำเร็จ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันขัดขวางข้อเสนอ
การประชุมระดับโลกที่จัดขึ้นระหว่าง 25 พ.ย. – 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถเกิดความทะเยอทะยานอย่างถึงที่สุดตามเป้าหมายให้เกิดข้อผูกพันทั่วโลกในการจำกัดการผลิตพลาสติก โดยเฉพาะการค่อยๆ เลิกใช้สารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติก
ความล้มเหลวของสนธิสัญญาต่อต้านมลพิษจากพลาสติกที่ปูซานจึงจะต้องนำไปหารือกันต่อในปีหน้า โดยประเด็นที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ติดขัดในเรื่องว่าควรมีการลดปริมาณพลาสติกทั้งหมดบนโลก และกำหนดการควบคุมสารเคมีอันตรายที่ใช้ในการผลิตพลาสติกในระดับโลกซึ่งควรต้องมีผลผูกพันทางกฎหมายหรือไม่
การเจรจาที่เมืองปูซานถูกคาดหวังว่าจะเป็นรอบที่ห้าและรอบสุดท้ายในการสร้างสนธิสัญญาฉบับแรกของโลกที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติก รวมถึงการแก้ปัญหาขยะในมหาสมุทร ภายในสิ้นปี 2024 ทว่ากลับตกลงกันไม่ได้
ประเทศเกือบ 200 ประเทศที่เข้าร่วมในครั้งนี้ต้องการให้สนธิสัญญานี้จำกัดการผลิต และลดสารเคมีในการผลิต รวมถึงสามารถนำพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ไปรีไซเคิลได้ แต่ประเทศผู้ผลิตพลาสติก และประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกลับไม่เห็นด้วย ทั้งที่ทุกประเทศต่างก็รับรู้ว่าทุกปีโลกผลิตพลาสติกใหม่มากกว่า 400 ล้านตัน การผลิตพลาสติกอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 70% ภายในปี 2040 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการควบคุม
Luis Vayas Valdivieso ประธานคณะกรรมการจากเอกวาดอร์ กล่าวว่า แม้การประชุมจะมีความคืบหน้าในปูซาน แต่ข้อตกลงจากการเจรจายังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะความเห็นที่แตกต่างกันมากในเรื่องข้อเสนอเกี่ยวกับสารเคมีในการผลิตพลาสติก และการจัดหาเงินทุนภายใต้สนธิสัญญาฉบับนี้
Juliet Kabera หัวหน้าผู้เจรจาของรวันดา กล่าวว่า ขอพูดแทน 85 ประเทศในการยืนยันว่า ควรให้สนธิสัญญานี้มีความทะเยอทะยานตลอดเวลา เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และไม่สร้างขึ้นเพื่อให้ล้มเหลว เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต และขอให้ทุกคนที่สนับสนุนคำแถลงนี้ “ยืนขึ้นเพื่อความทะเยอทะยาน” ซึ่งผู้แทนประเทศและผู้เข้าร่วมหลายคนยืนขึ้นพร้อมกับปรบมือ
ผู้เจรจาจากซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า สารเคมีและการผลิตพลาสติกไม่ได้อยู่ในขอบเขตของสนธิสัญญา โดยขอกล่าวแทนกลุ่มอาหรับว่า หากโลกต้องการจัดการกับมลพิษจากพลาสติกก็จะไม่มีปัญหากับการผลิตพลาสติก ผู้เจรจาจากคูเวตกล่าวเช่นเดียวกันว่า วัตถุประสงค์คือต้องการยุติมลพิษจากพลาสติก ไม่ใช่การกำจัดพลาสติก และการขยายขอบเขตภารกิจนี้เกินไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิม
ทั้งนี้ ในเดือน มี.ค. 2022 ประเทศ 175 ประเทศได้ตกลงที่จะทำสนธิสัญญาฉบับแรกที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติก รวมถึงจัดการขยะในมหาสมุทรให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2024
Cho Tae-yul รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้กล่าวว่า แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับสนธิสัญญาในปูซานตามที่หลายคนคาดหวัง แต่ความพยายามของพวกเขาก็ทำให้โลกใกล้เคียงกับทางออกที่เป็นเอกภาพในการยุติมลพิษจากพลาสติกทั่วโลกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ผู้แทนประเทศที่ต้องการสนธิสัญญาที่ทะเยอทะยาน กล่าวว่า มีประเทศไม่กี่ประเทศที่ขัดขวางความคืบหน้าอย่างหนัก ขณะที่ผู้แทนจากรวันดา Juliet Kabera กล่าวว่ามี ประเทศไม่กี่ประเทศที่ยังไม่สนับสนุนมาตรการที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง และรวันดาไม่สามารถยอมรับสนธิสัญญาที่ไร้เขี้ยวเล็บได้
แม้ว่าแต่ละประเทศจะไม่ยอมระบุชื่อประเทศที่ขัดขวางการตกลง แต่จากคำแถลงสาธารณะและการยื่นเอกสารได้บ่งบอกชัดว่า ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ผลิตน้ำมัน เช่น ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียที่พยายามขัดขวางการลดการผลิตและเป้าหมายที่ทะเยอทะยานอื่นๆ
ในขณะเดียวกันกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเจรจารอบใหม่เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น อย่าง Eirik Lindebjerg ผู้นำด้านนโยบายพลาสติกทั่วโลกจาก WWF กล่าวว่า การเพิ่มการประชุมมากขึ้นไม่ใช่ทางออก เพราะรู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อยุติมลพิษจากพลาสติก
มากกว่านั้นสองประเทศผู้ผลิตพลาสติกชั้นนำของโลก ได้แก่ จีนและสหรัฐอเมริกา ไม่ปรากฏตัวบนเวทีในงานแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ นั่นหมายถึงความไม่ชัดเจนในจุดยืนในการแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก
อ้างอิง:
Dec 1, 2024International talks on curbing plastic pollution fail to reach agreement, The Guardian
Dec 2, 2024 . Negotiators fail to reach an agreement on a plastic pollution treaty. Talks to resume next year, AP