การผลิตพลาสติกเพิ่มสองเท่า สัญญาณ ‘ขยะล้นโลก’ กระทบสิ่งแวดล้อม

by Chetbakers

การผลิตพลาสติกที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากได้ก่อให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และมลพิษอากาศ

การผลิตพลาสติกของโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตันในปี 1950 เป็น 348 ล้านตันในปี 2017 จนกลายเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 522,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสองเท่าภายในปี 2040 นอกจากนั้นรายงานของ UN ระบุว่า หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อบรรเทาการผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การผลิตพลาสติกทั่วโลกจะสูงถึง 1,100 ล้านตัน ภายในปี 2050

การผลิตพลาสติกที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากได้ก่อให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกในหลายด้าน ทั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และมลพิษทางอากาศ ซึ่งข้อมูลของสหประชาชาติ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวประมาณ 98% ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และคาดการณ์ว่าภายในปี 2040 พลาสติกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเติบโตขึ้นเป็น 19%

ตามการศึกษาวิจัยของโครงการ PlastChem ระบุว่า ขยะพลาสติกที่ถูกพบในทุกที่ อาจประกอบด้วยสารเคมีต่างๆ ที่แตกต่างกันมากกว่า 16,000 ชนิด และสารเคมีอย่างน้อย 4,200 ชนิด มีอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การผลิตพลาสติกทั่วโลกมากกว่า 400 ล้านตันต่อปี มากกว่าครึ่งเป็นการออกแบบมาสำหรับการใช้งานเพียงครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) และมีไม่ถึง 10% ที่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาไมโครพลาสติก หรืออนุภาคของพลาสติกขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 มม.) ปะปนไปกับอาหาร น้ำ อากาศ โดยมีการประเมินว่า แต่ละคนบนโลกมีการรับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายมากกว่า 50,000 ชิ้นในแต่ละปี

จากข้อมูลโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) คาดว่าภายในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การใช้ และการกำจัดพลาสติกจะคิดเป็น 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ท่ามกลางความพยาามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (°C)

พร้อมๆ กับการปกป้องสัตว์ทะเลมากกว่า 800 สายพันธุ์ และชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะจากขยะพลาสติก มีปริมาณขยะพลาสติกประมาณ 11 ล้านตัน ไหลลงสู่มหาสมุทรทุกปี และอาจเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี 2040 เมื่อเทียบกับปี 2016 ดังนั้น ประชาคมโลกจึงพยายามหาวิธีการรับมือกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มาของการร่างข้อตกลงสนธิสัญญาพลาสติก
สนธิสัญญาระดับโลกว่าด้วยพลาสติก (Global Plastic Treaty) เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่นำเสนอเพื่อแก้ไขวิกฤตมลพิษจากพลาสติกทั่วโลก และจะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการผลักดันจากที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 เมื่อเดือน มี.ค. 2022 โดยตกลงจะหาข้อสรุปให้ได้ภายในสิ้นปี 2024

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC-4) ครั้งที่ 4 ที่แคนาดาเป็นเจ้าภาพ ที่เมืองออตตาวา เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาข้อตกลงผูกพันทางกฎหมายระดับโลกเพื่อยุติมลภาวะจากพลาสติกภายในปี 2040

การประชุม INC-4 มีผู้เข้าร่วมหลายพันคนจาก 175 ประเทศ ทั้งตัวแทนรัฐบาล ภาคประชาสังคม เยาวชน อุตสาหกรรม ภาคการเงิน และชนพื้นเมืองโดย สตีเวน กิลโบต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของแคนาดาได้ประกาศโครงการริเริ่มในบางประเทศ รวมถึงการจัดตั้ง Federal Plastics Registry ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่เพื่อบังคับให้ผู้ผลิตพลาสติกและบริษัทอื่นๆ ทั้งห่วงโซ่ช่วยตรวจสอบและติดตามพลาสติกตั้งแต่ต้นน้ำและตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก

นอกจากนี้ กิลโบต์ ยังได้ประกาศให้เงินทุนสนับสนุนมากกว่า 3.3 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนธุรกิจและองค์กรของแคนาดาที่กำลังพัฒนาโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมในการบรรลุเป้าหมายขยะพลาสติกเป็นศูนย์ของแคนาดา พร้อมกันนี้แคนาดาจะมอบเงินทุน 10 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการ Global Plastic Action Partnership เพื่อสนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือในประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการกับมลพิษจากพลาสติก

รวมถึงได้สนับสนุนเงินอีก 5 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการ Global Program for the Blue Economy (PROBLUE) เพื่อลดมลพิษจากพลาสติกในทะเล รักษาความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศในเศรษฐกิจชายฝั่ง

สำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยมลพิษพลาสติก (INC-5) จะจัดขึ้นที่เมืองปูซาน เกาหลีใต้ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค. 2024

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สนธิสัญญาพลาสติกจะออกมา สถานการณ์ทางธุรกิจตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติพบว่า ขยะพลาสติกทั่วโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 408 ล้านเมตริกตัน ภายในปี 2040 ซึ่ง UN ได้เริ่มกำหนดแผนการกำจัดขยะพลาสติกเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการลดขยะพลาสติกให้ได้ 80% ภายในปี 2040 ไปด้วย โดยกำหนดเป็นฉากทัศน์ที่เรียกว่า Systematic change scenarios 4 ประการ ได้แก่
1) การใช้ซ้ำ 2) รีไซเคิล 3) ปรับเปลี่ยนทิศทางการใช้วัสดุและหาวัสดุทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ที่มีความยั่งยืน และ 4) การจัดการกับขยะพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ซ้ำ (Reuse) หรือรีไซเคิล (Recycle) ได้

ความท้าทายสำคัญของแผน Systematic change scenarios
1. Reuse การใช้ซ้ำ เป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับการลดมลพิษจากขยะพลาสติก แต่ยังมีความท้าทายและทำได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการนำกลับมาใช้ใหม่ การแก้ไขข้อกังวลเรื่องความสะดวก และการขจัดความกังวลด้านสุขอนามัย รวมถึงการปนเปื้อนและความปลอดภัยของพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบที่สอดคล้องเพื่อสร้างความมั่นใจในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และความเข้ากันได้ในระบบต่างๆ

2. Accelerate recycling เร่งการรีไซเคิลให้เกิดขึ้น แต่กำลังการผลิตยังคงห่างไกลกับเป้าหมาย ในปัจจุบันกำลังการผลิตของโรง Recycle plastic ของโลกอยู่ที่ 50 ล้านตันต่อปี ประกอบด้วย Polyethylene terephthalate (PET), Polypropylene (PP), Polystyrene (PS) และ Polyethylene (PE) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 65 ล้านตันในปี 2028 และ 86 ล้านตันในปี 2040

นั่นหมายความว่า กำลังการผลิตต้องเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 7% ต่อปีจากปัจจุบัน เพื่อให้ถึงเป้าหมายในปี 2040 แต่เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของกำลังการผลิตในปัจจุบันนี้มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 1% ต่อปี ซึ่งถือว่าช้ามาก ปัญหาคอขวดที่ทำให้การเติบโตของกำลังการผลิตโรง Mechanical recycling (กระบวนการนำของเสียพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ โดยอาศัยการบดและหลอมพลาสติกแบบไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี เป็นวิธีการรีไซเคิลพลาสติกที่นิยมใช้มากที่สุด) ที่เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากปัญหาการจัดเก็บขยะรีไซเคิล เพื่อนำกลับเข้ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับการรีไซเคิลใหม่ (การแยกขยะ)

ขยะรีไซเคิลมีปริมาณต่ำ

ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 2566 คนไทยสร้างขยะมูลฝอยรวมทั้งหมด 26.95 ล้านตัน ในจำนวนนี้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 9.31 ล้านตัน ซึ่งไทยยังมีปัญหาขยะพลาสติก อันดับ 12 ของโลก และทิ้งลงทะเลมากที่สุดอันดับ 10 ของโลก แต่กำลังการผลิตของโรงรีไซเคิลของไทยในปัจจุบันยังมีขนาดไม่ถึง 1% ของกำลังการผลิตของโลก

สำหรับกำลังการผลิตของโลกในปัจจุบัน Chemical recycling (การรีไซเคิลทางเคมีเป็นเทคโนโลยีการรีไซเคิลขั้นสูงที่สามารถแยกขยะพลาสติกกลับไปเป็นหน่วยพื้นฐานของพลาสติก นั่นคือ “โมโนเมอร์”) ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากเช่นกัน เมื่อเทียบกับเป้าหมาย โดยกำลังการผลิตของโลกคาดว่าจะอยู่ที่ราว 4 ล้านตัน ในปี 2030

ในปัจจุบันไทยมีแผนเริ่มลงทุนเกี่ยวกับ Chemical recycling ในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 4,000 ตันต่อปีเท่านั้น สาเหตุหลักที่ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่า Mechanical recycling นอกจากประเด็นด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังมีข้อจำกัดเรื่องการลงทุนที่มีต้นทุนค่อนข้างสูง โดย UNEP คาดว่า ต้นทุนการผลิต Chemical recycling จะอยู่ที่ราว 2,327 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ทั้งนี้ แผนการสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิตของพลาสติกรีไซเคิล คือ เพิ่มปริมาณเนื้อวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์
ใหม่ให้มากขึ้น (Post-Consumer Recycled content หรือ PCR) โดยเป้าหมายคือ เพิ่มปริมาณเนื้อวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์
ใหม่ให้ได้ถึง 35% ของผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีอายุสั้น และ 6% ของผลิตภัณฑ์พลาสติกคงทน

3. การใช้วัสดุทดแทนพลาสติกที่เป็นวัสดุแบบยั่งยืนเบื้องต้น ได้มีการกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 22 ล้านตันในอีก 5 ปีข้างหน้า (ราวปี 2027) หรือประมาณ 70 ล้านตันในปี 2040 กำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น โดยมีการประเมินว่าปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.22 ล้านเมตริกตัน ณ ปี 2023

European bioplastics ได้ประเมินว่า กำลังการผลิตวัสดุแบบยั่งยืนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า สู่ระดับ 7.5 ล้านตันภายในปี 2028 โดยเอเชียเป็นผู้ที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดที่ 41.4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยมีจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด เนื่องจากจีนต้องการผลักดันมาตรการ single-used plastic ban

สำหรับยุโรปมีสัดส่วน 25.9% ของกำลังการผลิตของโลก โดยมีเยอรมนีและอิตาลีเป็นผู้นำ, อเมริกาเหนือ 18.5% ของกำลังการผลิต โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ, อเมริกาใต้ 7.5% ของกำลังการผลิต โดยมีบราซิลเป็นผู้นำ และแอฟริกาและโอเชียเนีย ภูมิภาคเหล่านี้รวมกันคิดเป็นน้อยกว่า 1% ของกำลังการผลิตทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายแล้ว ปัจจุบันการใช้พลาสติกของโลกอยู่ที่ราว 400 ล้านตันต่อปี ถูกนำไปผลิตเป็น
Single-used plastic ราว 40-50% หรือที่ประมาณ 200 ล้านตันต่อปี กำลังการผลิต Bioplastics ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ
0.5% ของการผลิตพลาสติกของโลก หรือที่ราว 1 ล้านตัน

การใช้วัสดุทดแทนยังห่างไกลความจริง

ดังนั้น เป้าหมายที่จะใช้วัสดุทดแทนพลาสติกที่ 22 ล้านตันในอีก 5 ปีข้างหน้า สำหรับการใช้ Bioplastic จึงยังมีความห่างไกลอยู่มาก และอาจต้องใช้วัสดุทดแทนอื่นๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายตาม System change scenario ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่การผลิต Bioplastic ยังเติบโตได้ช้า เนื่องจากยังมีอุปสรรคบางประการ ดังนี้

3.1 ต้นทุน : พลาสติกชีวภาพโดยทั่วไปมีราคาแพงกว่าพลาสติกแบบดั้งเดิม เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น วัตถุดิบแป้งข้าวโพดหรือกากน้ำตาลจากอ้อยอาจมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้สำหรับพลาสติกแบบดั้งเดิม

3.2 กระบวนการผลิต : การผลิตพลาสติกชีวภาพมักเกี่ยวข้องกับกระบวนการหมักหรือเคมีที่ซับซ้อน

3.3 โครงสร้างพื้นฐาน : การผลิตพลาสติกแบบดั้งเดิมได้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและมีบทบาทสำคัญต่อภาคการผลิตของประเทศมายาวนานหลายทศวรรษ ทำให้ผลิตได้ราคาถูกกว่า

3.4 ประสิทธิภาพและการทำงาน : แม้ว่าพลาสติกชีวภาพจะพัฒนาไปมากในแง่ของประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีข้อด้อยกว่าพลาสติกแบบดั้งเดิมในบางชนิด เช่น พลาสติกชีวภาพบางชนิดอาจมีความทนทานน้อยกว่าและทนต่อความร้อนได้น้อยกว่าพลาสติกแบบดั้งเดิม หรือพลาสติกชีวภาพบางชนิดอาจไม่ทนต่อความชื้น ออกซิเจน หรือน้ำมัน ได้เท่ากับพลาสติกแบบดั้งเดิม ทำให้ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานบรรจุภัณฑ์บางประเภท

3.5 การแข่งขันและความยั่งยืนของวัตถุดิบ : การใช้วัตถุดิบพลาสติกชีวภาพบางชนิด เช่น ข้าวโพด อาจทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ความต้องการวัตถุดิบพลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าหรือเปลี่ยนที่ดินเกษตรกรรมเพื่อการผลิตที่ไม่ใช่อาหาร หรือการใช้พืชไปสู่การผลิตพลาสติกชีวภาพอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารในบางภูมิภาคได้

4. จัดการกับพลาสติกที่เหลือที่ไม่สามารถใช้ซ ้ำ (Reuse) หรือรีไซเคิล (Recycle) ได้ เช่น ลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่
สิ่งแวดล้อม ลดขยะที่ได้รับการจัดการผิดพลาดทั่วโลกลงเหลือ 10% ในปี 2040

ดังนั้นเพื่อการบรรลุเป้าหมายในการลดขยะพลาสติก ต้องมีความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ รัฐบาล ภาคธุรกิจ และสถาบันวิจัย ที่จำเป็นต้องร่วมมือกันสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนให้พลาสติกชีวภาพเติบโต โดยการส่งเสริมนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้มีศักยภาพที่จะปฏิวัติวิธีการผลิตและนำไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน

อ้างอิง:
https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/9390/gsr0hkxzv9/In-focus-Global-treaty-on-plastics-20240124.pdf
https://abcnews.go.com/International/plastics-treaty-aims-tackle-pollution-crisis/story?id=109262142

https://www.canada.ca/en/environment-climate-change/news/2024/04/canada-helps-chart-roadmap-toward-an-ambitious-global-deal-to-end-plastic-pollution.html
https://www.un.org/en/climatechange/nations-agree-end-plastic-pollution
https://www.unep.org/cep/news/blogpost/un-roadmap-outlines-solutions-cut-global-plastic-pollution

Copyright @2021 – All Right Reserved.