สภาวะโลกเดือด เบื้องหลังภัยพิบัติ ‘สุดขั้ว’ ปี 66

สังเกตกันไหมว่าตลอดช่วงปี 2566 เรามักเห็นข่าวภัยพิบัติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก นับตั้งแต่คลื่นความร้อนรุนแรง ภัยแล้งหนักสุดในประวัติศาสตร์ ไฟป่าลามเผาทั้งเมืองวอดวาย หรือแม้กระทั่งพายุฝนถล่มเมืองกลางทะเลทรายจนเมืองจมน้ำ จนนับได้ว่าปี 2566 ถือเป็นปีที่โลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ (1)

ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2567 จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้มาทบทวนถึงสถานการณ์ภัยพิบัติที่ได้สร้างความเสียหายมหาศาลต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนทั่วโลกตลอดปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะทำความเข้าใจความร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราทุกคนกำลังเผชิญ

ปีแห่งความแห้งแล้ง ไฟป่า และคลื่นความร้อน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กุเตอเรส (António Guterres) ได้กล่าววรรคสำคัญที่กลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายประจำปี 2566 ว่า โลกกำลังก้าวพ้นจากสภาวะโลกร้อน และกำลังเข้าสู่ยุค “ภาวะโลกเดือด” แล้ว เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่กำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง

สอดคล้องกับคำเตือนจากองค์การสหประชาชาติ และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ได้ยืนยันแล้วว่า ปี 2566 ถือเป็นปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลสภาพอากาศ และอาจเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดในรอบหลายแสนปี โดยจากข้อมูลการวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศโลกล่าสุดขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา อุณหภูมิเฉลี่ยโลกได้พุ่งทำลายสถิติเดือนที่ร้อนที่สุดต่อเนื่องติดต่อกันจวบจนถึงเดือนพฤศจิกายน (1)

ผลจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อนจนทำลายสถิติ เสริมกับปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังแรงในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เสริมกำลังทำให้เกิดความร้อนและความแห้งแล้งยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ทั่วทุกมุมโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนสุดขั้ว ในหลายๆ เมืองในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต้องพบกับอุณหภูมิร้อนจัดสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ยาวนานติดต่อกันหลายสัปดาห์ สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คน

คลื่นความร้อนจัดยังเสริมให้เกิดไฟป่ารุนแรงและความแห้งแล้งอย่างหนักในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไฟป่าในฮาวายเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาได้กลายเป็นหนึ่งในภัยพิบัติสภาพอากาศครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบปี หลังจากสภาวะแห้งแล้งและมีกระแสลมกรรโชกทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว จนเผาเมืองประวัติศาสตร์ Lahaina บนเกาะ Maui จนวอดวายทั้งเมือง ในขณะที่ในแคนาดา ไฟป่าได้เผาผลาญพื้นที่ป่ามหาศาล ฝุ่นควันไฟหนาแน่นจากไฟป่าก่อให้เกิดเป็นมลพิษอากาศรุนแรง กระทบหลายพื้นที่ในแคนาดา และสหรัฐฯ

นอกจากนี้หลายพื้นที่ก็ประสบกับสภาวะแห้งแล้งจัดในปีนี้เช่นกัน โดยเฉพาะในแถบลุ่มน้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ ที่ต้องเผชิญกับสภาวะฝนแล้งอย่างหนักในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จนทำให้แม่น้ำสาขาหลายสายของแม่น้ำแอมะซอนถึงกับแห้งเหือด สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อระบบนิเวศป่าแอมะซอน รวมไปถึงวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในป่า (2) (3)

พายุรุนแรงซ้ำเติมผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ในขณะที่หลายพื้นที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า ในอีกหลายมุมของโลกกลับต้องเผชิญภัยจากพายุรุนแรงและน้ำท่วมใหญ่ไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยพายุและน้ำท่วม เช่น เหตุน้ำท่วมใหญ่จากเขื่อนแตกในลิเบียจากพายุแดเนียล ซึ่งเป็นพายุเฮอร์ริเคนชนิดหายากที่ก่อตัวขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

อิทธิพลพายุใหญ่ลูกนี้ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในเขตทะเลทรายของลิเบีย ทำให้เขื่อนสองแห่งเหนือเมือง Derna ทางชายฝั่งตะวันออกของลิเบียแตก จนเป็นเหตุให้น้ำจากเขื่อนไหลทะลักเข้าท่วมเมืองอย่างรวดเร็ว คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 11,000 ราย และสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่จีนและเกาหลีใต้ก็ต้องเผชิญภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ ถล่มกรุงปักกิ่งและกรุงโซล จากสถานการณ์ฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับฮ่องกงที่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อิทธิพลพายุไต้ฝุ่นไห่ขุย ทำให้ฮ่องกงต้องเผชิญกับปริมาณฝนถึง 800 มิลลิเมตร ภายใน 1 วัน ทำให้หลายพื้นที่ในฮ่องกงจมอยู่ใต้น้ำท่วมสูง (3)

สถิติสถานการณ์ภัยพิบัติปี 2566

จากผลการวิเคราะห์สถิติข้อมูลภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปี 2566 โดยองค์กร Save the Children เผยว่า ตลอดทั้งปีนี้ ภัยพิบัติจากสภาพอากาศสุดขั้วได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 12,000 คน นับเป็นตัวเลขสถิติผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติสูงขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

เมื่อวิเคราะห์เจาะลงไปที่สถิติผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติยังพบอีกว่า ในปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากภัยดินโคลนถล่มเพิ่มขึ้น 60% เช่นเดียวกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไฟป่าสูงขึ้นถึง 278% และตัวเลขผู้เสียชีวิตจากวาตภัยที่กระโดดขึ้นมากถึง 340% เมื่อเทียบกับปี 2565 ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลกระทบจากสภาวะโลกเดือดกำลังเร่งให้สภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวนมากขึ้น นำไปสู่ภัยจากสภาพอากาศสุดขั้วที่จะเกิดถี่ขึ้น และรุนแรงยิ่งขึ้น

องค์กร Save the Children ยังระบุด้วยว่า กว่าครึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติจากสภาพอากาศสุดขั้ว มาจากประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมอีกชั้นที่กดให้ประเทศรายได้น้อยเหล่านี้ ซึ่งมีส่วนร่วมในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อนเพียง 0.1% ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก แต่กลับต้องรับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ

“การวิเคราะห์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างไม่สมส่วนต่อประเทศรายได้น้อย เพราะประเทศเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพและทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการป้องกันรับมือกับภัยพิบัติภูมิอากาศ ทำให้ประเทศเหล่านี้มีความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อความเสียหายจากภัยพิบัติ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้น ความยากจน และการพลัดถิ่นที่สูงขึ้นจากวิกฤตภูมิอากาศที่พวกเขาแทบไม่มีส่วนร่วมก่อ” Kelley Toole หัวหน้าฝ่ายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ Save the Children กล่าว (4) (5)

จะเห็นได้ว่าจากสถิติภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกตลอดปี 2566 ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาลเป็นประวัติการณ์ จังหวะย่างก้าวเข้าสู่ปี 2567 จึงเป็นโอกาสที่ทุกประเทศจะต้องหันมาทบทวนนโยบายรับมือสถานการณ์หายนะภัยที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มการเกิดถี่ขึ้น และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ที่มา :

(1) UN News (2023). Hottest July ever signals ‘era of global boiling has arrived’ says UN chief. Retrieved Dec 30, 2023, from https://news.un.org/en/story/2023/07/1139162

(2) Jonathan Chadwick for Mailonline (2023). Droughts, floods, fires and typhoons: The 20 costliest climate disasters of 2023, revealed – including one that cost over $4,000 per person. Retrieved Dec 30, 2023, from https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-12889969/Droughts-floods-fires-typhoons-20-costliest-climate-disasters-2023-revealed-including-one-cost-4-000-person.html

(3) Pratch Rujivanarom (2023). WMO เผย วงจรน้ำกำลังปั่นป่วนจากโลกร้อน ทำคนทั่วโลกเสี่ยงเผชิญภัยจากน้ำ (2023). Retrieved Dec 30, 2023, from https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/844220

(4) Christian Aid (2023). Counting the Cost 2023: A year of climate breakdown December 2023. Retrieved Dec 30, 2023, from https://reliefweb.int/report/world/counting-cost-2023-year-climate-breakdown-december-2023

(5) Save the Children International (2023). 2023 In Review: Climate Diasters Claimed 12,000 lives globally in 2023. Retrieved Dec 30, 2023, from https://www.savethechildren.net/news/2023-review-climate-disasters-claimed-12000-lives-globally-2023

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย