การยุติความยากจนและหายนะทางสิ่งแวดล้อม ต้องการแนวคิดใหม่ๆ เพราะตัวเลข GDP ที่เป็นอยู่ช่วยคนรวยแค่ส่วนน้อยให้ร่ำรวยขึ้น แต่คนยากจนยังล้นโลก
การแสวงหาการเติบโต (ทางเศรษฐกิจ) อย่างไม่มีที่สิ้นสุดและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการนี้ กำลังผลักดันโลกเข้าสู่ภาวะเกินขีดจำกัด โดยเฉพาะด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมาสุขภาพของโลกเราถูกสังเวยไปเพื่อแลกผลประโยชน์ทางวัตถุที่ไม่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ทุกคน นี่คือมายาคติที่ถูกชี้นำโดยนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และแม้แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ – ทว่าในความเป็นจริงมันคือ ภาพลวงตา
นั่นเพราะ – ในรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนนี้ แสดงให้เห็นว่า คำสัญญาที่จะขจัดความยากจนนั้นเป็นการ “หยดลง” หรือ “การกระจาย” ความมั่งคั่ง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับพุ่งไปตกใส่มืออภิสิทธิ์ชนคนส่วนน้อย
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ผู้ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 5 คน มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า ขณะที่คนอีกเกือบ 5,000 ล้านคน กลับยากจนลง หากแนวโน้มในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ ภายในปี 2030 จะมีผู้คน 575 ล้านคน ยังคงติดอยู่ในความยากจนอย่างสุดขีด ซึ่งเป็นปีเป้าหมายที่รัฐบาลทั่วโลกตั้งไว้เพื่อขจัดความยากจน โดยขณะนี้มีประชากรมากกว่า 4,000 ล้านคน ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมใดๆ เลย
ผู้คนนับ 100 ล้านคน กำลังดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในโลกที่ไม่เคยมีความมั่งคั่งมากเท่านี้มาก่อน หลายคนถูกผลักดันจนหมดแรงในงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำและมักเป็นงานอันตรายเพื่อตอบสนองความต้องการของชนชั้นสูงและเพื่อเพิ่มผลกำไรของบริษัท ในประเทศที่มีรายได้น้อยยังคงต้องการการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติมักเป็นการขูดรีด โดยอาศัยการเอารัดเอาเปรียบแรงงานราคาถูกและการปล้นสะดมทรัพยากรธรรมชาติ
การแสวงหาการเติบโต (ทางเศรษฐกิจ) อย่างไม่มีที่สิ้นสุดและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการนี้ กำลังผลักดันโลกเข้าสู่ภาวะเกินขีดจำกัด โดยเฉพาะด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมาสุขภาพของโลกเราถูกสังเวยไปเพื่อแลกผลประโยชน์ทางวัตถุที่ไม่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจของโลกกำลังล้มเหลว เราจำเป็นต้องมองไปไกลกว่าผลกำไร ไกลกว่าระยะสั้น และไกลกว่าผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย
เศรษฐกิจที่ยึดตามหลักสิทธิมนุษยชนสามารถส่งมอบผลประโยชน์ให้กับผู้คนและโลกได้ เพราะมันสร้างการเติบโตไปสู่มนุษยชาติ โดยตั้งจุดมุ่งหมายให้ “สิทธิมนุษยชน” เป็นราวกั้น เพื่อรักษาเส้นทางของเศรษฐกิจในการเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แก้ไขความไม่เท่าเทียม และขจัดความยากจน
ข้อเสนอนี้ไม่ใช่นิทาน บันไดขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมสามารถเริ่มต้นได้ โดยเริ่มจากการเลือก “ตัวชี้วัด” ความก้าวหน้าอื่นที่ไม่ใช่ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” หรือ GDP ซึ่งไม่ได้บอกอะไรเลยเกี่ยวกับผลกระทบทางนิเวศวิทยาหรือสังคมจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เราจำเป็นต้องเริ่มให้คุณค่ากับตัวชี้วัดใหม่จริงๆ เพราะ GDP ไม่มีทางที่จะนับรวมเวลาประมาณ 16,400 ล้านชั่วโมงที่ใช้ไปกับงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่ทำโดยผู้หญิงที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจโลก อย่างการดูแลเด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุ
งานบ้านและความรับผิดชอบที่ไม่ได้รับค่าจ้างจึงควรได้รับค่าตอบแทน รวมถึงได้สิทธิ์ในการเข้าถึงบริการอื่นๆ ที่จำเป็น
คนส่วนใหญ่ถูกชักนำให้เชื่อว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจเท่ากับความก้าวหน้าของมนุษย์ ทว่า กลับมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อต่อต้านการขับเคลื่อนรูปแบบเศรษฐกิจเดิมๆ ที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจากนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ คนงานและสหภาพแรงงาน นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการ คนหนุ่มสาว นักปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ชนพื้นเมือง นักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวคิดก้าวหน้า และนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และลัทธิล่าอาณานิคม เพราะมันเป็นเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ถ่างความเหลื่อมล้ำ และสร้างความมั่งคั่งให้คนแค่หยิบมือ
ในขณะที่ผู้นำโลกเตรียมรวมตัวกันสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly-UNGA) สมัยที่ 79 ซึ่งจะเริ่มสมัยประชุมในเดือน ก.ย. 2567 มีเป้าหมายเพื่อสร้างฉันทามติระดับโลกเกี่ยวกับอนาคตของเราทุกคนว่าควรเป็นอย่างไร ซึ่งประชุมกันมา 78 ครั้งแล้ว หากยังคงแนวทางการขับเคลื่อนโลกในรูปแบบเดิมๆ ต่อไป นั่นอาจสรุปได้ว่า มันคือหนทางสู่การสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ
หมายเหตุ – บทความนี้เขียนโดย Olivier De Schutter ซึ่งเป็นผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยความยากจนขั้นรุนแรงและสิทธิมนุษยชน โดย igreenstory ได้นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่
ที่มา: Obsession with growth is enriching elites and killing the planet. We need an economy based on human rights, Olivier De Schutter