เครื่องเกมคอนโซลฟันเฟืองโลกร้อนที่ไม่ควรมองข้ามเห็นเล็กๆ แต่พลาญพลังงานไม่น้อย

น้อยคนที่จะคิดถึงรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) กับสิ่งของเครื่องใช้ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น iPhone 14 หนึ่งเครื่องสร้างคาร์บอนประมาณ 61 กก.ตลอดอายุการใช้งาน เทียบเท่าขับรถจากกรุงเทพ-ปราณบุรี เช่นเดียวกับหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันเรา ตั้งแต่ข้าวเหนียวหมูปิ้งไปจนถึงรถยนต์ ทุกอย่างล้วนมีค่าใช้จ่ายต่อสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น

การเล่นเกมผ่านเครื่องเกมคอนโซลเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมายาวนาน ถึงแม้ปริมาณพลังงานไฟฟ้าจากการเล่นเกมต่อชั่วโมงนั้นไม่มาก แต่ถ้าเล่นต่อเนื่องก็ใช้พลังงานมิใช่น้อย

60 ปี หลังเปิดตัวเครื่องเกมคอนโซล หรือที่เราเรียกในยุคแรกๆ ว่า ‘วิดีโอเกม’ ด้วยเกมตีเทนนิส ธุรกิจนี้ก็เติบโตขึ้นจนมีมูลค่าสูงถึง 2.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท และเติบโตมาพร้อมกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตตัวคอนโซล (ตัวเครื่องเล่น) คาร์ทริดจ์ (ตลับเกม) และแผ่นดิสก์ จำนวนหลายล้านชิ้นและจัดส่งไปทั่วโลก รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆ ที่ผลิตจากแร่โลหะ เช่น โคลแทน และนิกเกิล

การวิจัยในปี 2019 ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุว่า การผลิต PlayStation 4 หนึ่งเครื่อง และจัดส่งจากประเทศจีนไปยังสหราชอาณาจักรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 89 กิโลกรัม ซึ่งนับรวมตั้งแต่การทำเหมืองโลหะไปจนถึงการผลิต และการขนส่งทางเรือ

เมื่อสินค้าถึงมือผู้รับรูปแบบการปล่อยคาร์บอนฯ จะเปลี่ยนเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าในการเล่น โดยในปี 2019 วารสารวิชาการของอเมริกาประเมินว่าผู้เล่นเกมชาวอเมริกันใช้ไฟฟ้าร่วมกันมากถึง 34 เทราวัตต์ชั่วโมง/ปี ซึ่งมากกว่าพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศผลิตได้ในหนึ่งปี

การศึกษาเดียวกันพบว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเกมในสหรัฐทั้งหมดปล่อยคาร์บอนฯ 24 เมกะตัน/ปี โดยยังไม่นับรวมปลายทางวิดีโอเกมที่ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันมีเพียงสหภาพยุโรปและ 6 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา (แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด ฮาวาย โอเรกอน เวอร์มอนต์ และวอชิงตัน) เท่านั้นที่กำหนดให้ผู้ผลิตคอนโซลเกมต้องจำกัดการใช้พลังงานเป็นอย่างน้อยเมื่ออุปกรณ์ไม่ได้ใช้งาน โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ

Xbox หนึ่งในแบรนด์คอนโซลเกมของ Microsoft รับโจทย์นี้และกำลังสำรวจวิธีจำกัดพลังงานไฟฟ้าผ่านการอัปเดตซอฟต์แวร์

ขณะที่กลุ่มบริษัท Nintendo กล่าวว่าคอนโซลเกมรุ่น Switch ในปัจจุบันใช้พลังงานเพียงครึ่งหนึ่งของรุ่นที่เปิดตัวในปี 2017 และ Sony Interactive Entertainment กล่าวว่า PlayStation 5 รุ่นล่าสุดก็ใช้พลังงานน้อยกว่า PS4 ถึง 17%

“เห็นได้ชัดว่าพวกเขาใช้เวลาด้านวิศวกรรมมากมายในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยรวมของระบบ” เบ็น อับราฮัม นักวิจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากเกมตั้งข้อสังเกต “แต่พวกเขาได้ทำทุกอย่างที่ทำได้หรือยัง”

แม้เครื่องเล่นเกมแบบคอนโซลจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศต่ำกว่า การผลิตกระแสไฟฟ้า การบิน หรือการใช้รถยนต์ แต่ก็มิอาจใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ปรับอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

แนวโน้มการเล่นเกมในยุคต่อไปมีความท้าทายมากขึ้น เพราะบริษัทคอนโซลเกมต่างให้ความสำคัญกับกราฟิกที่สมจริงมากขึ้น และการเล่นเกมแบบที่โต้ตอบ (Interactive) ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะต้องใช้พลังการในการประมวลผลมากขึ้น และนำไปสู่ความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้นอีก

แปลและเรียบเรียงจาก
Dec17,2022, “There’s a Small But Growing Push to Make Video Gaming Greener.” Bloomberg
Dec17,2022, “A small but growing movement to make video gaming greener.” The Japan Time

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด