รัฐมนตรีคลัง G20 อนุมัติเก็บภาษีมหาเศรษฐี 3,000 คน นำเงินแก้โลกร้อน

Cr. AP

ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศ G20 เห็นชอบให้เก็บภาษีทรัพย์สินจากมหาเศรษฐีของโลก คาดระดมเงินได้ราว 230,000 ล้านยูโร เพื่อใช้แก้ปัญหาโลกร้อน

กลุ่มประเทศ G20 เห็นด้วยกับข้อเสนอการจัดเก็บภาษีมหาเศรษฐีตามที่บราซิลนำเสนอต่อที่ประชุม โดยจะนำเงินไปใช้ในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น สนับสนุนโครงการพลังงานสะอาด การปลูกป่าใหม่ และโครงการอื่นๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในประเทศ

การตอบรับนโยบายนี้อย่างดีจากประเทศสมาชิก G20 ถือเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินการร่วมกันเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อคนทั้งโลก

ที่ประชุม G20 ออกแถลงการณ์นี้ ณ กรุงรีโอเดจาเนโร เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ผ่านมา โดยระบุว่า ทุกประเทศได้ตกลงที่จะ “ร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อเก็บภาษีคนรวยอย่างมีประสิทธิภาพ” ซึ่งแน่นอนว่าในแง่กระบวนการได้มาของเม็ดเงินจำนวนมากนี้ยังไม่มีความแน่ชัด และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบการนำเงินมาใช้จริง

Gabriel Zucman นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลบราซิลให้ดำเนินการในเรื่องนี้ระบุว่า ปัจจุบันมหาเศรษฐีจ่ายภาษีเพียง 0.3% ของทรัพย์สินของพวกเขา ประธานาธิบดีบราซิล Luiz Inacio Lula da Silva หวังที่จะเก็บภาษีขั้นต่ำ 2% จากมหาเศรษฐี 3,000 คนที่รวยที่สุด ซึ่งอาจจะทำให้มีรายได้ระหว่าง 184 พันล้านยูโรถึง 230 พันล้านยูโรทั่วโลกในแต่ละปี

Zucman ในฐานะผู้อำนวยการผู้ก่อตั้ง EU Tax Observatory ในปารีส ระบุว่า เงินจากเศรษฐี 3,000 คน สามารถนำไปใช้ในบริการสาธารณะ เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ รวมถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มาก

“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีฉันทามติในหมู่ประเทศ G20 ว่าวิธีการเก็บภาษีจากกลุ่มคนรวยมากต้องได้รับการแก้ไข และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ มันเป็นก้าวสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง” เขากล่าวในแถลงการณ์

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่บางประเทศยังคงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ รวมถึง Christian Lindner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนี และ Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ โดย Yellen กล่าวกับนักข่าวในริโอฯ ว่า “นโยบายภาษีเป็นเรื่องที่ยากมากในการประสานงานระดับโลก และเราไม่เห็นความจำเป็นหรือคิดว่ามันน่าพึงประสงค์ที่จะพยายามเจรจาเพื่อข้อตกลงระดับโลกในเรื่องนี้”

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงฝรั่งเศส สเปน แอฟริกาใต้ โคลอมเบีย และสหภาพแอฟริกา ซึ่งเป็นสหภาพของ 55 ประเทศสมาชิกในทวีปแอฟริกา สนับสนุนโครงการนี้ ในขณะที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งปล่อยคาร์บอนอันดับ 2 ของโลก ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้

ทั้งนี้ บราซิลได้เสนอการเก็บภาษีขั้นต่ำ 2% จากมหาเศรษฐีลำดับสูงสุด ก่อนการประชุมสุดยอดในวันที่ 18-19 พ.ย.ที่ริโอฯ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบราซิล Fernando Haddad เรียกข้อตกลงนี้ว่า “ก้าวสำคัญไปข้างหน้า” แม้ว่าจะยังไม่ระบุขั้นตอนการจัดเก็บภาษีที่ชัดเจน

จากการวิเคราะห์ของ Oxfam พบว่า ในทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มคนรวยที่สุด 1% สะสมความมั่งคั่งมูลค่า 42 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ารายได้ของประชากรระดับล่างสุดของโลกครึ่งหนึ่งถึง 36 เท่า

การประชุมสุดยอด G20 ครั้งที่ 19 จะสิ้นสุดในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ ณ เมืองริโอเดอจาเนโรของบราซิล โดยกำหนดหัวข้อการประชุมไว้ว่า ‘Building a Just World and a Sustainable Planet’ – การสร้างโลกที่ยุติธรรมและยั่งยืน” จะมีสมาชิกเข้าร่วม 19 ประเทศ รวมถึงสหภาพแอฟริกา และสหภาพยุโรป โดย19 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน เยอรมนี ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เม็กซิโก สหพันธรัฐรัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยบราซิลทำหน้าที่ประธาน

อนึ่ง สมาชิกของกลุ่มประเทศ G20 ประกอบด้วย ผู้แทนสหภาพยุโรป และอีก 19 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (ได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย) และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ (ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี) ทั้งนี้ ขนาดเศรษฐกิจของสมาชิก G20 คิดเป็นร้อยละ 90 ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก

เดิม G20 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลาง โดยมีผู้อำนวยการ IMF และประธานธนาคารโลก เข้าร่วมโดยตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ส่งผลให้มีการยกระดับการประชุม G20 เป็นระดับผู้นำ โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ย. 2551 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นเวทีหลัก (premier forum) สำหรับผู้นำประเทศสมาชิกในการหารือประเด็นเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

อ้างอิง:
Jul 30, 2024 . G20 countries agree on Brazil’s tax on super-rich – and it could help fight climate change . Euronews
Jul 27, 2024 . G20 finance ministers agree to work toward effectively taxing the super-rich . AP
G20 Summit 2024 . sdgiisd.org

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน