‘อียิปต์’ เข้มประชุม COP27คุมสื่อลิดรอนสิทธิ์ภาคประชาชน

Thousands of protesters take part in the Walk for Your Future climate march ahead of COP27 in Brussels, Belgium on October 23, 2022.

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 หรือ COP27 ระหว่างวันที่ 6 – 18 พ.ย. 2022 เป็นการประชุมกันระหว่างผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อร่วมกันหาทางต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นที่เมือง Sharm el-Sheikh ประเทศอียิปต์ 

นอกจากผู้นำประเทศต่างๆ มาหารือกันแล้ว ฟากตัวแทนของภาคประชาสังคมก็มีโอกาสพบปะกับผู้นำและ ร่วมสังเกตการณ์การประชุมได้โดยตรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในปีที่ผ่านๆ มา จะเห็นภาพเยาวชนนักเคลื่อนไหวกับคณะผู้แทนระดับชาติเดินไปตามทางเดินระหว่างการประชุม พร้อมๆ กับมีการชุมนุมอย่างสันตินอกสถานที่การประชุม หรือมีภาพการเดินขบวน ซึ่งเป็นฉากส่วนหนึ่งของการประชุม COP เสมอมา 

ทว่าบรรยากาศโดยรวมของประเทศเจ้าภาพในอียิปต์ครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป เนื่องจากมีการจำกัดสิทธิ์การชุมนุมให้อยู่ใน “เขตการประท้วง” ที่ทางการอียิปต์จัดให้เป็นพิเศษเท่านั้น ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่จัดการประชุมหลัก และจะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน โดยหนึ่งในกฎเกณฑ์ที่กำหนดคือการห้ามใช้ “วัตถุเลียนแบบ” เช่น ภาพวาดเหน็บแนมผู้นำแห่งรัฐ ผู้เจรจา หรือบุคคล

Volker Türk ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวว่า “เราทุกคนคือคนสำคัญ รวมถึงตัวแทนภาคประชาสังคม ที่สามารถมีส่วนร่วมใน COP27 ที่มีความหมายใน Sharm el-Sheikh” เพราะการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้อง “โปร่งใส ครอบคลุม อย่างมีความรับผิดชอบ”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2021 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ได้รับรองอย่างเป็นทางการว่า “การเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่ดีและยั่งยืนเป็นสิทธิมนุษยชน” และใช้มติซึ่งเป็นความเห็นที่เป็นทางการประกาศว่า การเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขอนามัย และยั่งยืนเป็นสิทธิมนุษยชนสากล  

UNHCR ได้ระบุองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพไว้ ดังนี้ อากาศบริสุทธิ์, สภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัย, อาหารที่ถูกสุขอนามัย และผลิตอย่างยั่งยืน, การเข้าถึงน้ำที่ปลอดภัย และการสุขาภิบาลที่เพียงพอ, สภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นพิษในการใช้ชีวิต การทำงานและการเล่น และระบบนิเวศที่ดีต่อสุขภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพ

แม้ว่าจะยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับนี้ไม่ได้เป็นเพียงแถลงการณ์ แต่เป็นความมุ่งมั่นทางการเมืองในการป้องกันอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าเทียม และรับรองมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมขั้นต่ำสำหรับทุกคน

คณะกรรมาธิการเพื่อสิทธิและเสรีภาพของอียิปต์ (ECRF) ระบุมีผู้ถูกจับกุม 93 รายในอียิปต์ในช่วงก่อนงานประชุมจะเริ่มไม่กี่วัน จากการสอบสวนดำเนินคดีด้านความมั่นคงแห่งชาติ ผู้ถูกจับกุมบางรายถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ส่งวิดีโอเรียกร้องให้มีการประท้วงผ่านโซเชียลมีเดีย บางคนถูกตั้งข้อหาละเมิดสื่อสังคมออนไลน์ เผยแพร่ข่าวเท็จ และเข้าร่วมกับองค์กรก่อการร้าย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อต่อต้านนักเคลื่อนไหว 

อียิปต์ผ่านจลาจลครั้งใหญ่สองครั้งในปี 2021 และ 2013 ซึ่งปีล่าสุดได้เปิดทางให้ Abdel Fattah el-Sisi ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ในขณะนั้นเข้ายึดอำนาจ ซึ่งขณะนั้นมีนักเคลื่อนไหวตลอดจนนักข่าวหลายพันคนถูกคุมขังและทรมานในสถานีตำรวจ และเรือนจำทั่วประเทศ โดยตั้งแต่นั้นมาพื้นที่การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะก็ถูกยกเลิก และเสรีภาพของสื่อมวลชนก็ถูกลิดรอนสิทธิ์

นักเคลื่อนไหว ผู้สังเกตการณ์ NGO และนักข่าวที่ติดตามการประชุม COP27 ได้ตั้งข้อสังเกตถึงกฎเกณฑ์การจำกัดสิทธิ์ในการชุมนุมของรัฐบาลอียิปต์ในครั้งนี้ และไม่สามารถเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของรัฐบาลอิยิปต์ได้ นาโอมิ ไคลน์ เขียนใน The Guardian ว่า “หากปราศจากเสรีภาพทางการเมือง การดำเนินการด้านสภาพอากาศก็ไร้ซึ่งความหมาย”

อ้างอิง:

  • Alberto Vera, “Breaking Silence on Climate and Social Injustice at COP27”, META.EEB
  • Ivana Kottasová, “Egypt faces criticism over crackdown on activists ahead of COP27 climate summit”CNN
  • Statements and Speeches, “Right to healthy environment”, UNHRC

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย