ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน หยุดโลกร้อน สร้างสมดุลชีวิตให้ดีขึ้น

by IGreen Editor

โปรตุเกสกลายเป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศทดลองการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน หลังจากก่อนหน้านั้น เบลเยียม สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ ได้นำร่องไปแล้ว โดยรวมถือเป็นเทรนด์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีต่อการสร้างสมดุลการใช้ชีวิตโดยยังคงประสิทธิภาพการทำงานที่ดีเหมือนเดิม และสามารถกอบกู้โลกจากภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ถูกจุดประกายขึ้นหลังช่วงการระบาดใหญ่โควิด-19 เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในสถานที่ทำงาน บนเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันกับนายจ้างว่า พนักงานที่จะทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะต้องได้รับค่าจ้างเท่าเดิม บริษัทได้รับผลประโยชน์เท่าเดิม และปริมาณงานก็ต้องเท่าเดิมเช่นกัน

จุดเด่นของบริษัทที่ยอมลดสัปดาห์การทำงานลงจะทำให้มีการประชุมน้อยลงและคนทำงานก็อิสระมากขึ้น ซึ่งผู้สนับสนุนการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันสะท้อนว่า เป็นอนาคตของพนักงานที่จะสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เมื่อนำแนวทางนี้มาใช้สามารถสร้างความพึงพอใจของพนักงานเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

สหภาพแรงงานทั่วยุโรปเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ นำแนวนโยบายนี้มากันมากขึ้น

เบลเยียม – กลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยในเดือน ก.พ. 2022 พนักงานชาวเบลเยียมได้รับสิทธิ์ทำงานเต็มสัปดาห์ 4 วัน แทนการทำงาน 5 วันปกติโดยไม่ถูกลดเงินเดือน

“เป้าหมายคือการให้ผู้คนและบริษัทต่างๆ มีอิสระมากขึ้นในการจัดเวลาทำงาน” อาเล็กซันเดอร์ เดอ โกร นายกรัฐมนตรีเบลเยียมกล่าว โดยเขาหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถผสมผสานชีวิตครอบครัวเข้ากับอาชีพการงานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างเศรษฐกิจของเบลเยียมที่มีพลวัตมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการทดลองนี้เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดี โปรตุเกสจึงได้ก้าวกระโดดเข้าร่วมขยายขอบเขตแนวคิดการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน โดยหลังจากรัฐบาลประกาศใหม่กฎนี้เมื่อต้นเดือน มิ.ย. บริษัทเอกชน 39 แห่งได้ลงนามเข้าร่วมเพื่อริเริ่มโครงการ ซึ่งได้ดำเนินงานร่วมกับกลุ่ม 4 Day Week Global ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

บริษัทที่เข้าร่วมตกลงให้ปฏิบัติงานตาม “โมเดล 100 : 80 : 100” นั่นก็คือ 100% เป็นค่าจ้าง 80% เป็นเวลางาน และแลกการรักษาประสิทธิภาพการทำงานไว้ที่ 100%

สหราชอาณาจักร – มีบริษัททดลองทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เป็นเวลา 6 เดือน โดยเปิดตัวไปเมื่อเดือน มิ.ย. 2565 มีบริษัทประมาณ 61 แห่งและพนักงานมากกว่า 3,300 คน ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนี้

การทดลองนี้่แค่ 6 เดือนของอังกฤษก็เพื่อศึกษาผลกระทบของชั่วโมงทำงานที่สั้นลงต่อประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมทางเพศ โดยกำลังวางแผนให้เป็นมาตรการถาวร

สกอตแลนด์ – เริ่มในปี 2566 โดยการตัดสินใจในเรื่องนี้กลายเป็นคำมั่นสัญญาในการหาเสียงของพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ (SNP) ที่คนงานจะถูกลดชั่วโมงทำงานลง 20% แต่ขณะเดียวกันพรรค SNP จะสนับสนุนเงินแก่บริษัทที่เข้าร่วมประมาณ 10 ล้านปอนด์ (11.8 ล้านยูโร)

ผลสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ (IPPR) ในสก็อตแลนด์ แสดงให้เห็นว่า 80% ของผู้ที่ตอบสนองต่อนโยบายนี้มีทัศนคติเชิงบวกอย่างมากต่อความคิดริเริ่มนี้ โดยระบุว่า โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมสุขภาพและความสุขของพวกเขาอย่างมาก

ในขณะที่รัฐบาลเวลส์ – ประกาศในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาว่า กำลังพิจารณามาตรเช่นเดียวกับอังกฤษและประเทศอื่นๆ

สำหรับไอซ์แลนด์ – นักบินได้เรียกร้องเรื่องการลดเวลาการทำงานระหว่างปี 2015 ถึง 2019 โดยลดเวลาทำงานสัปดาห์ละ 35 ถึง 36 ชั่วโมง (จากเดิมทำงาน 40 ชั่วโมง) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,500 คนในช่วงการทดสอบ โดยไม่มีการลดค่าจ้าง ซึ่งประสบความสำเร็จและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในไอซ์แลนด์ โดยเกือบ 90% ของประชากรที่ทำงานในขณะนี้มีชั่วโมงทำงานลดลง

นักวิจัยพบว่า ความเครียดและความเหนื่อยหน่ายของพนักงานลดลง และความสมดุลระหว่างชีวิตและงานก็ดีขึ้นด้วย

สวีเดน – มีการทดสอบการลดเวลาทำงานลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 8 ชั่วโมงวันโดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนตั้งแต่ปี 2558 โดยให้ทดลองลดวันทำงานจาก 8 ชั่วโมง เหลือ 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่กระทบค่าจ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่พอใจกับแนวคิดนี้ เนื่องจากเห็นว่าอาจทำให้มีต้นทุนที่แพงเกินไป

ทว่ากลับได้รับการตอบรับในเชิงบวกจากหน่วยศัลยกรรมกระดูกของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เปลี่ยนพยาบาลและแพทย์ 80 คนให้มาทำงานวันละ 6 ชั่วโมง และจ้างพนักงานใหม่เพื่อชดเชยเวลาที่เสียไปแต่สุดท้ายการทดลองนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากและไม่ได้รับการต่ออายุ

ฟินแลนด์ – ยังไม่ประกาศให้มีการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน แม้จะมีการพูดถึงนโยบายนี้กันอย่างแพร่หลายก็ตาม

เยอรมนี – เป็นประเทศที่มีสัปดาห์ทำงานเฉลี่ยสั้นที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป จากข้อมูลของ World Economic Forum (WEF) ระบุว่าสคนเยอรมันทำงานเฉลี่ย 34.2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานยังเรียกร้องให้มีการลดชั่วโมงการทำงานลงอีก โดยให้เหตุผลว่าจะช่วยรักษาตำแหน่งงานและหลีกเลี่ยงการเลิกจ้าง

จากการสำรวจของ Forsa พบว่า ร้อยละ 75) เชื่อว่าการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันจะเป็นที่พึงปรารถนาสำหรับพนักงาน ซึ่งนายจ้างเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 46) ก็เห็นว่า เป็นไปได้

ในประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ได้ประกาศแผนที่จะบรรลุสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นทั่วประเทศในปี 2021 เพราะเห็นว่ามีเหตุผลหลายประการที่เป็นผลดีต่อประเทศ เนื่องจากการทำงานหนักเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หรือการทำงานเกินเวลามักจะทำให้พนักงานล้มป่วยมากเกินไปหรือฆ่าตัวตายได้

ในปี 2019 Microsoft ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีได้ทดลองใช้โมเดลนี้โดยเสนอให้พนักงานมีวันหยุดสุดสัปดาห์ละ 3 วันเป็นเวลาหนึ่งเดือน
ผลปรากฎว่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตได้ถึง 40% และส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ในนิวซีแลนด์ พนักงาน 81 คนที่ทำงานให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง Unilever กำลังทดลองใช้งานสัปดาห์ละ 4 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนเป็นเวลาหนึ่งปี

จากการสำรวจโดย Qualtrics ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์คลาวด์ พบว่า 92% ของคนงานในสหรัฐฯ เห็นด้วยกับการทำงานสัปดาห์ที่สั้นลง โดยผลสำรวจระบุว่า พนักงานอ้างถึงสุขภาพจิตที่ดีขึ้นและประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น โดยรวมแล้วสัปดาห์การทำงาน 4 วันดูเหมือนจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลจากบริษัท Milieu ทำการวิจัยพบว่า พนักงานจากสิงคโปร์ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ก็ต้องการเปลี่ยนมาทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เช่นเดียวกัน แม้จะยังมีหลายประเทศที่ไม่ได้สนใจการลดเวลาทำงาน เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น มาเลเซีย เมียนมา หรือกัมพูชา เป็นต้น

นอกเหนือจากการสร้างสมดุลชีวิตที่ควรตกกับคนทำงานแล้ว นโยบายนี้สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ด้วย แต่ที่สำคัญในระยะยาวก็คือ การแก้ปัญหาโลกร้อนหรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างไร้ขีดจำกัด

จากการประชุม COP ครั้งที่ผ่านมาทุกประเทศได้เห็นชอบร่วมกันที่จะลดการใช้พลังงานฟอสซิล ในหลายอุตสาหกรรมต่างตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุดตามวาระที่กำหนด อีกหลายภาคส่วนก็พยายามรณรงค์โดยเฉพาะการลดเผาผลาญพลังงานที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล

ข้อพิสูจน์หนึ่งต้องยอมรับว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คุณภาพอากาศโดยรวมทั่วโลกดีขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมต้องหยุดการผลิต จึงช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างชัดเจน สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็นรายงานในวันที่ 19 พ.ค. 2563 ว่า ผลการศึกษาระหว่างประเทศเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั่วโลก พบว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในช่วงเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. ลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปี 2562 และคาดว่าจะลดลงอีก 4.4% ถึง 8% ในช่วงสิ้นปี ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ผลการศึกษาชิ้นนี้เผยแพร่ผ่านวารสาร Nature Climate Change โดยศึกษาการปล่อยคาร์บอนฯ ใน 69 ประเทศ, 50 รัฐของสหรัฐฯ และ 30 มณฑลของจีน คิดเป็น 85% ของประชากรโลก ซึ่งมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 97% ของทั้งโลก ซึ่งพบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้การปล่อยคาร์บอนฯ มาจากการขับขี่ยานพาหนะที่น้อยลง โดยจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2563 ระดับกิจกรรมการคมนาคมภาคพื้นลดลง 50% ขณะที่การคมนาคมทางอาการลดลงถึง 75%

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของ 4 Day Week Campaign พบว่า การลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์สามารถช่วยลดปริมาณ Carbon Footprint ในสหราชอาณาจักรได้มากถึง 21.3% ต่อปี และหากเริ่มต้นการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ภายในปี 2025 จะช่วยลดการใช้พลังงานในออฟฟิศและลดการใช้ระบบขนส่งได้กว่า 127 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 20% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด

ด้าน Greenpeace ได้ประมาณการว่า การลดการทำงานลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์สามารถลดระยะการเดินทางได้ถึง 558 ล้านไมล์ต่อสัปดาห์
โดยในรัฐยูทาห์ สหรัฐฯ ทดลองลดการทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ พบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของการทดลองสามารถลดปริมาณ Carbon Footprint ได้ถึง 6,000 เมตริกตัน และลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานได้มากถึง 1.8 ล้านดอลลาร์ เพียงแค่พนักงานไม่ต้องเดินทางออกจากบ้านไปทำงานแค่สัปดาห์ละ 1 วันเท่านั้น

ฉะนั้นนโยบายนี้จึงเป็นหนึ่งในมาตรการลดภาวะโลกร้อนที่จะทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้อย่างมหาศาล และจะเกิดขึ้นคู่ขนานกับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานทั่วโลกมากขึ้นด้วย ช่วยลดภาระงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตบริการสาธารณะของแต่ละประเทศอีกด้วย

อ้างอิง:

Copyright @2021 – All Right Reserved.