ค้นพบปูชนิดใหม่ของโลก
บริเวณเทือกเขา จ.พัทลุง
ตั้งชื่อ ‘ปูมดแดงอาจารย์ซุกรี’

by Admin

เฟซบุ๊กเพจคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ได้โพสต์ข้อความแสดงความยินดีแก่ คุณพัน ยี่สิ้น บุคลากรสาขาวิชาวิทยาการเกษตรและประมง และคุณเรืองฤทธิ์ พรหมดำ ที่ได้ค้นพบปูชนิดใหม่ของโลก ที่มีชื่อภาษาไทยว่า “ปูมดแดง อาจารย์ซุกรี” (Phricotelphusa sukreei) ซึ่งเป็นการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.

ปูมดแดงมีลักษณะกระดองสีแดง ขายาว พบอยู่บนต้นไม้เตี้ยๆ บริเวณเทือกเขาสูงทางภาคใต้ตอนล่างที่มีความชื้นสูง สำหรับปูชนิดใหม่นี้เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา และเผยแพร่ทางเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ Lee Kong Chian – พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่ประเทศสิงคโปร์

สำหรับปูสายพันธุ์ดังกล่าวพบในพื้นที่เทือกเขาของ จ.พัทลุง หรือเทือกเขาสูงทางภาคใต้ของไทย มีขาเดินยาวมาก อาศัยอยู่ตามโพรงต้นไม้เตี้ยๆ และหากมองอย่างผิวเผินจะมีลักษณะคล้ายปูน้ำจืดแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่สามารถแยกแยะได้ง่ายด้วยสีสันแดงสดใส รวมถึงลักษณะกระดองของตัวปู และอวัยวะสืบพันธุ์

สำหรับชื่อของ “ปูมดแดง อาจารย์ซุกรี” (Phricotelphusa sukreei) เป็นการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อดีตคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ. ที่มีส่วนสนับสนุนทีมงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา

อนึ่ง ปู ถูกจัดว่าเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มสัตว์ขาข้อเช่นเดียวกันกับแมลง แต่มีลักษณะเด่นคือขาเป็นข้อปล้องและมีจำนวนขามากถึง 10 ขาด้วยกัน โดยขาคู่แรกเปลี่ยนไปเป็นก้ามหนีบ

ปูยังเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมายาวนานรวมยุคเดียวกันกับไดโนเสาร์ นับตั้งแต่สมัยจูราสซิก ก่อนจะทวีพันธุ์เพิ่มขึ้นต่อมาในสมัยครีเคเชียส

ปัจจุบันคาดว่ามีสายพันธุ์ปูอยู่บนโลกมากกว่า 1 ล้านชนิด (เฉพาะที่มีการค้นพบแล้ว) ในระบบนิเวศ ปูมีบทบาทที่สำคัญในห่วงโซ่อาหารหลายระดับ
นับตั้งแต่ผู้ย่อยสลาย จากพวกที่กินซากพืชและซากใบไม้ที่เน่าเปื่อยหรืออินทรียสารในดิน เช่น ปูแสม ปูก้ามดาบ ไปจนถึงผู้ล่า เช่น ปูทะเล ปูม้า จากพวกที่กินปูขนาดเล็กและหอยชนิดต่างๆ รวมทั้งยังเป็นอาหารให้แก่สัตว์อื่น

นอกจากนี้ ปูยังเป็นผู้ให้บริการทางระบบนิเวศจากกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขุดรูหรือการกินอาหารของปูชนิดต่างๆ เช่น ช่วยเร่งการหมุนเวียนของธาตุอาหารให้กลับคืนสู่ดิน

ที่มา:
• https://www.seub.or.th/bloging/into-the-wild/phricotelphusa-sukreei/
• https://lkcnhm.nus.edu.sg/wp-content/uploads/sites/10/2022/10/RBZ-2022-0025.pdf

ภาพ: เพจคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี

Copyright @2021 – All Right Reserved.