เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ในเบลเยียมได้ทดสอบหลอดหลายสิบหลอดจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีก และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในประเทศ โดยทำการสุ่มตัวอย่างจาก 39 ยี่ห้อที่ทำจากกระดาษ ไม้ไผ่ แก้ว สแตนเลส และพลาสติก
ผลจากการทดสอบพบว่า 27 รายการจากกลุ่มตัวอย่างมีสาร PFAS หรือสารเคมีตลอดกาล ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์ นิยมใช้ในสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องด้วยคุณสมบัติที่สามารถต้านทานคราบ ไขมัน และน้ำได้ ถึงแม้จะพบความเข้มข้นในระดับต่ำก็ตาม
ในบรรดาหลอดที่นำมาศึกษา หลอดที่ทำจากกระดาษมีแนวโน้มที่จะมีสารเคมี PFAS มากที่สุด โดยมีการตรวจพบสารเคมี PFAS ใน 18 แบรนด์จากทั้งหมด 20 แบรนด์
ในขณะที่พบสารเคมี PFAS สี่ในห้าของหลอดไม้ไผ่ สามในสี่ของหลอดพลาสติก และสองในห้าของหลอดแก้ว มีเพียงหลอดสแตนเลสเท่านั้นที่ปราศจากสารเคมี PFAS
การวิจัยก่อนหน้านี้ในสหรัฐอเมริกายังตรวจพบ PFAS ในกระดาษและหลอดที่ทำจากพืชอื่นๆ รวมถึงเครื่องครัวและบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ อีกมากมาย
PFAS คือ สารเคมีสังเคราะห์ที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า มีคุณลักษณะที่สามารถต้านความร้อน น้ำมัน และน้ำ มักตรวจพบในกระดาษห่ออาหาร เครื่องสำอาง พรม เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ เช่น เสื้อกันฝน หรือชุดออกกำลังกาย นอกจากคุณสมบัติดังกล่าว สาร PFAS ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สารเคมีตลอดกาล’ เนื่องจากไม่สลายตัวเมื่อเวลาผ่านไปและสามารถคงอยู่อย่างถาวรในอากาศ น้ำ และดิน
จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การได้รับได้รับสารเคมี PFAS อาจสัมพันธ์ กับระดับคอเลสเตอรอล โรคต่อมไทรอยด์ และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมะเร็ง รวมถึงโรคเกี่ยวกับไตและตับ แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าการสัมผัสระดับใดหรือปริมาณเท่าไหร่ที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านี้
Thimo Groffen หนึ่งในผู้ศึกษา กล่าวว่าสารเคมี PFAS ที่พบเจอในหลอดตัวอย่างนั้นยังไม่ชัดเจนว่ามาจากความตั้งใจของผู้ผลิตที่ต้องการใช้เคลือบเพื่อกันน้ำ หรือมาจากวัตถุดิบ เช่น ฟางข้าว ไม้ไผ่ ที่ได้รับสารเคมี PFAS ที่ปนเปื้อนในดินและน้ำ
ในงานวิจัยระบุเพิ่มว่าแม้การใช้หลอดจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ และมีสารเคมี PFAS ในปริมาณต่ำ แต่เราควรลดความเสี่ยงในการเพิ่มการสะสมสารเคมีตลอดกาลในร่างกาย เนื่องจากว่าในชีวิตประจำวันเราอาจสัมผัสสารเคมี PFAS ในรูปแบบอื่นอีกก็เป็นไปได้
ที่มา
Aug 25, 2023. Paper and bamboo straws contain PFAS chemicals more often than plastic straws do, study finds. News
Jan 19, 2023. นักวิจัยสหรัฐพบ PFAS ในปลาน้ำจืด เสี่ยงมะเร็ง-ภูมิคุ้มกันบกพร่อง. IGreen