พบเสือโคร่ง 2 สัญชาติ อาศัยในป่าทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้งมากสุด

นายอาทร กำลังใบ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยาน เสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) จ.ชุมพร ได้รายงานการพบเสือโคร่งบริเวณป่าดวงเจริญ ป่าเนินทอง และป่าช่องขมิ้ว หมู่ที่ 4 และ หมุ่ที่ 7 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งเสือโคร่งดังกล่าวมีการกระจายพื้นที่อาศัยหากินระหว่างประเทศไทยและเมียนมา ซึ่งอาจจะเป็นเสือโคร่ง 2 สัญชาติ เนื่องจากมีการข้ามไปมาระหว่าง 2 ประเทศ

การค้นพบดังกล่าวนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland) ทำการสำรวจการกระจายตัวของเสือโคร่งในพื้นที่บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี มูลนิธิฟรีแลนด์ทำการสำรวจบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมาในบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหลุนญา ซึ่งครั้งนี้เป็นการค้นพบในฝั่งไทย ได้ภาพจากการตั้งกล้องในพื้นที่ทั้งหมด 24 ตัว โดยพบว่าเป็นเสือโคร่งจำนวน 3 ตัว เนื่องจากลายของเสือโคร่งแตกต่างกัน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ไม่เคยพบเสือโคร่งมาก่อน เนื่องจากไม่มีการสำรวจ แต่เริ่มมีการตั้งกล้องสำรวจเมื่อปี 2562 เป็นต้นมา ในปี 2563 – 2565 ก็เคยพบมาแล้ว ส่วนปี 2566 พบแต่รอยตีน ส่วนการลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่ผ่านมาก็พบแต่รอยตีน นอกจากนี้บริเวณพื้นที่เขตฯ ช่วงล่างรอยต่อกับเขตด้านทิศใต้ เคยพบรอยบนต้นไม้

อย่างไรก็ตาม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง เร่งสำรวจว่าเสือโคร่งที่กระจายตัวหากินระหว่าง 2 ประเทศมาเป็นระยะเวลานานเท่าใด รวมถึงเป็นเสือที่รวมอยู่ในจำนวนเสือของไทยที่ทำการสำรวจมาก่อนหรือไม่ เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลที่เป็นปัจจุบันขึ้น

สำหรับสถานการณ์เสือโคร่งในปัจจุบันจากการประเมินประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ ปี 2565 มีจำนวน 148-189 ตัว เพิ่มขึ้นจากสถิติ ปี 2563 ที่สำรวจพบ 130-160 ตัว โดยอาศัยเทคนิคการประเมินเฉพาะทางและการจำแนกลายที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ซึ่งติดตั้งไว้มากกว่า 1,200 จุด ในพื้นที่อนุรักษ์ 28 แห่ง

จากการศึกษาวิจัยนี้ยังพบอีกว่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด คือ 103-131 ตัว ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกตอนเหนือ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ขึ้นไปจนอุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร และตาก สามารถบันทึกภาพเสือโคร่งได้ จำนวน 16 – 21 ตัว

นอกจากนี้ ยังบันทึกภาพเหยื่อของเสือโคร่ง เช่น กวางป่า หมูป่า เก้ง วัวแดง เป็นต้น ถือเป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของผืนป่าและความเหมาะสมการเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ. 2565 – 2577 โดยตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานการคุ้มครองถิ่นอาศัยสำคัญของเสือโคร่ง ได้แก่ ผืนป่าตะวันตก และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตลอดจนเร่งฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในถิ่นอาศัยเป้าหมาย ได้แก่ ผืนป่าแก่งกระจาน ผืนป่าภูเขียว-น้ำหนาว และผืนป่าคลองแสง-เขาสก ทั้งหมดนี้เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ภายในปี 2577

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่