นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมอุทยานแห่งชาติ ค้นพบ “ระฆังอัครา” กระดังงาดอกสวยชนิดใหม่ของโลกจาก จ.กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี
หลังจากสร้างความฮือฮาในการค้นพบ “บุหงาลลิษา” ล่าสุด ผศ. ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการค้นพบพบพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงาจาก จ.กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Miliusa majestatis Damth., Sinbumr. & Chaowasku และมีชื่อไทยว่า “ระฆังอัครา”
การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการวิจัย “อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annocaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” โดยร่วมกับ น.ส.อานิสรา ดำทองดี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์, นายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยอีกหลายคนที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566
ผศ. ดร.ธนวัฒน์ระบุว่า ระฆังอัครามีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 5 เมตร ดอกมีรูปร่างคล้ายระฆัง กลีบดอกชั้นในคอดรัดและมีช่องเปิดขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างโคนกลีบดอกชั้นในที่ติดกัน กลีบดอกชั้นในที่อยู่ส่วนล่างของการคอดรัดมีสีเหลืองอมเขียว ส่วนกลีบดอกชั้นในที่อยู่ส่วนบนส่วนมากมีสีแดงม่วงเข้มอมน้ำตาล โคนกลีบมีเนื้อเยื่อโปร่งแสง ทำให้แสงส่องผ่านได้ เวลาออกดอกจะออกพร้อมกันทำให้ดูสวยงามเป็นอย่างมาก
สำหรับ “ระฆังอัครา” ขึ้นอยู่ริมสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันนอกเขตอนุรักษ์ ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางในอนาคต จึงจะต้องช่วยกันอนุรักษ์พืชชนิดนี้มิให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก นอกจากนี้จะต้องศึกษาสารทุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นระฆังอัครา เพื่อการใช้ประโยชน์ทางเภสัชศาสตร์
จากรายงานการศึกษาก่อนหน้าพบว่าพืชชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกันเป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ โดยเฉพาะฤทธิ์ต้านมะเร็ง อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปลูกเลี้ยงค่อนข้างง่ายและมีดอกสวยงาม
ทีมนักวิยจัยให้เหตุผลการกำหนดคำระบุชนิด “majestatis” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา