กระทรวงสิ่งแวดล้อมเชิญชวนประชาชนและชุมชนร่วมกันปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้ระยะยาวในอนาคตจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยวางเป้าดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากพื้นที่ป่าภายในปี 2580 จำนวน 120 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า มีพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพกว่า 1.1 ล้านไร่ เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนและบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตจากมาตรการการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565โดยได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานเร่งสร้างความเข้าใจกับบุคลากรและประชาชนเกี่ยวกับแนวคิดคาร์บอนเครดิต และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รวมทั้งเชิญชวนประชาชนและชุมชนร่วมกันปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้ระยะยาวในอนาคตจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยเชื่อว่า มูลค่าคาร์บอนเครดิตจะสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน พร้อมมอบหมายให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทบทวนศักยภาพการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของป่าแต่ละประเภทให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด
ตลอดจนจัดทำหลักเกณฑ์ในการจัดสรรพื้นที่การปลูก อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าไม้ให้แก่หน่วยงานภายนอก รวมทั้งแนวทางการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานเร่งสำรวจพื้นที่เป้าหมายสำหรับการกักเก็บคาร์บอนโดยเร็ว พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลพื้นที่ที่มีความพร้อมดำเนินการในปี 2565 และแผนการดำเนินงานให้กับฝ่ายเลขานุการฯ ภายในวันที่ 18 ก.พ. 2565 เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission development Strategy)
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2580 โดยในปัจจุบันมีพื้นที่เป้าหมายของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่มีศักยภาพจำนวนกว่า 1.1 ล้านไร่ และมีความพร้อมดำเนินการในปี 2565 มากกว่า 6 แสนไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 181,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า