นำอาหารช่วยผู้หิวโหยทั่วโลก 40 ล้านคน ลดคาร์บอน 1.8 ล้านเมตริกตัน

การนำผลผลิตส่วนเกินในภาคเกษตร 654 ล้านกิโลกรัม ไปช่วยผู้หิวโหยใน 45 ประเทศ กว่า 40 ล้านคนทั่วโลก ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 1.8 ล้านเมตริกตัน

เครือข่ายธนาคารอาหารโลกเปิดเผยว่า ในปี 2023 เครือข่ายได้จัดหาอาหารและอื่นๆ ให้แก่ผู้คนกว่า 40 ล้านคน ใน 45 ประเทศ โดยผลการดำเนินการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยตอบสนองความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยลดขยะอาหาร (food waste) ได้จำนวนมหาศาลอีกด้วย ที่สำคัญสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ราว 1.8 ล้านเมตริกตันในปีที่แล้ว

ตามรายงานโครงการความช่วยเหลืออาหารในปี 2023 ได้นำอาหารจากฟาร์มและผู้ค้าส่งไปแจกจ่ายให้กับผู้ขอรับความช่วยเหลือด้านอาหารไป จำนวน 654 ล้านกิโลกรัม หรือประมาณ 1,700 ล้านมื้อ ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

การดำเนินโครงการในปี 2023 ซึ่งเป็นปีที่่อากาศร้อนที่สุดบนโลกเท่าที่เคยบันทึกมา และยังเกิดเหตุการณ์รุนแรงเกี่ยวกับสภาพอากาศจำนวนมากทั่วโลก อย่างเช่น ไฟป่า ภัยแล้ง และน้ำท่วม

สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) ระบุว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้ง มีประชากรโลก 1 ใน 33 คน ต้องการความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงปัญหาความหิวโหยด้วย

ดักลาส โอไบรอัน รองประธานโครงการของ Global Foodbanking Network ระบุผ่านแถลงการณ์ว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนอาหาร แต่เป็นการขาดแคลนการเข้าถึงอาหารในราคาที่เหมาะสมสำหรับผู้คนที่เปราะบางหลายล้านคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งต้องดิ้นรนเพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า การร่วมมือกับเกษตรกรทำให้ธนาคารอาหารสามารถนำอาหารส่วนเกินมาใช้ประโยชน์ ทำให้ช่วยลดปริมาณผลผลิตที่สูญเสียในฟาร์มหรือหลังการเก็บเกี่ยวลงได้ 35% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยฟื้นฟูฟาร์มของเกษตรกรได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การลดการสูญเสียอาหารในฟาร์มยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนได้ 1.8 ล้านเมตริกตัน ซึ่งเดิมทีอาหารเหล่านี้อาจถูกนำไปฝังกลบ ซึ่งปริมาณก๊าซที่ลดลงนี้เทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกจากท้องถนนประมาณ 400,000 คัน เป็นเวลา 1 ปี

อ้างอิง: Aug 14, 2024 . Global Food Banks Curbed 1.8 Million Metric Tons of Carbon Emissions in 2023 by Reducing Food Waste, Report Finds By Paige Bennett . Ecowatch

Related posts

เมืองทั่วโลกเร่งปรับตัว รับมือคลื่นความร้อนดันอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

สรุป 10 ปัจจัยน้ำท่วมเชียงราย ไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำระดับชาติ

โลกป่วนภูมิอากาศเปลี่ยน คุมอุณหภูมิไม่อยู่ Flexitarian ช่วยกอบกู้โลก