เมื่อเดือนมกราคม 2019 มีรายงานการวิจัยในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า น้ำแข็งที่กรีนแลนด์ละลายเร็วกว่าที่คิดถึง 4 เท่า และตอนนี้พื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของกรีนแลนด์ แทบจะไม่เหลือธารน้ำแข็งอีกแล้ว
ในเดือนเดียวกันของปีเดียวกัน Nature Communications รายงานว่า ธารน้ำแข็งที่แคนาดาละลายอย่างรวดเร็ว จนเผยให้เห็นผืนดินที่ไม่เคยได้เห็นกันมานานถึง 40,000 ปี
เดือนกุมภาพันธ์ 2019 นิตยสาร Nature ตีพิมพ์งานวิจัยที่ระบุว่า การละลายของน้ำแข็งส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโลกในระดับที่ซับซ้อนกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้
และในเดือนเดียวกันของปีเดียวกัน UChicago พบว่าแผ่นน้ำแข็งของแอนตาร์กติกแตกออกมา เพราะอัตราการละลายของน้ำแข็งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และพบแอ่งทะลสาบที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งถึง 2,000 แห่งแล้ว
ข่าวพวกนี้เพียงแค่ผ่านมาและผ่านไป เหมือนเป็นเรื่องสามัญที่ทุกคนได้ยินได้ฟังมาตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนเรียกว่ามันเป็น New normal แบบหนึ่งของชีวิตชาวโลกไปแล้ว
ดังนั้น หากน้ำแข็งทั่วโลกจะละลายอย่างรวดเร็ว แล้วเมืองสำคัญของโลกจะปริ่มน้ำ หรือกระทั่งจมน้ำ ชาวโลกก็อาจจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร
ถ้าอย่างนั้น ก่อนที่น้ำแข็งละลายจะเอ่อล้นจนท่วมถึงคอ เรามาเล่นอะไรกันเพลินๆ ดีกว่า เผื่อที่จะคิดได้ว่า หากน้ำแข็งละลายพร้อมๆ กันขึ้นมาจริงๆ จะมีที่ไหนบ้างที่เราพอจะหนีขึ้นไปตากเนื้อตากตัวให้แห้งกันบ้าง?
ในโลกออนไลน์ มีแพล็ตฟอร์มจำนวนหนึ่งที่ช่วยให้เรา “เล่นสนุก” กับการคำนวณพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วม หากน้ำแข็งขั้วโลกและทั่วโลกเกิดละลายขึ้นมาจริงๆ
เรื่องนี้อาจจะสนุกกันหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ แม้เพียง 1 ใน 4 ของความเป็นไปได้ มันจะไม่ใช่เรื่องสนุกเลย เพราะมหานครส่วนใหญ่ของโลก ล้วนแต่ตั้งอยู่ริมหรือใกล้ชายฝั่งทะเล จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม หรือจมอยู่ใต้ผืนทะเลได้ง่ายๆ กรุงเทพฯ เองก็เป็นหนึ่งในมหานครที่เสี่ยงจะจมบาดาลที่สุดแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับฮ่องกง โตเกียว สิงคโปร์ นิวยอร์ก มุมไบ เซี่ยงไฮ้ ซิดนีย์ และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย
หากน้ำแข็งทั่วโลกละลายจนหมด ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 70 เมตร
แพล็ตฟอร์มเหล่านี้มีอะไรบ้าง?
1. Flood Map : Water Level Elevation Map (Beta)
แผนที่ออนไลน์แบบอินเตอร์แอกทีฟ มีความง่ายๆ ด้วยระบบเบต้า จึงไม่ละเอียดนัก แต่ช่วยให้เราเห็นภาพคร่าวๆ ได้ว่า หากน้ำท่วมโลกในระดับต่างๆ เมืองชายฝั่งจะตกอยู่ในชะตากรรมใด สามารถใส่ตัวเลขระดับน้ำทะเลได้ระหว่าง 0 – 800 เมตร แต่เพื่อความสมจริงควรจะเติมตัวเลข 70 เมตร ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดของระดับน้ำทะเลหากน้ำแข็งละลายจนหมดโลก (ในความเป็นจริงโอกาสที่ละลายจนหมดมีน้อยมาก)
2. Global Flood Map | World Wide Map of Potential Flooding
เป็นแผนที่อินเตอร์แอกทีฟที่มีความละเอียดเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย อัตราหน่วยวัดเป็นนิ้ว ไม่ใช่ระบบเมตริก คงเพราะมีฐานในสหรัฐ สามารถใส่ระดับน้ำสูงสุดได้ 1,000 นิ้ว แผนที่มีการไล่ระดับสี ความสูงของภูมิประเทศ และมีข้อมูลประกอบ เช่น แต่ละประเทศจะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลเอ่อท่วมมากน้อยแค่ไหน เช่น ประเทศไทยจะมีผู้ได้รับผลกระทบ 750,385 คน มากที่สุดคือ จ. ชลบุรี มี 219,164 คน อ. ศรีราชา 178,916 คน และหัวหิน 50,456 คน
3. Surging Seas: Risk Zone Map – Climate Central
มีความละเอียดของแผนที่ในระดับดีมาก ไม่จำเป็นต้องใส่ตัวเลขในช่องเพื่อสร้างสถานการณ์เสมือนจริง เพียงแต่ลากดัชนีระดับน้ำขึ้นลง โดยมีตัวเลขระหว่าง 1 – 10 ฟุต หรือ 0.5 – 30 เมตร และสามารถดาวโหลดภาพของพื้นที่สมมติได้ ที่เด็ดสุดคือ มีตัวเลือกสถานการณ์สมมติประเภทต่างๆ คือ แสดงผลให้เห็นผลกระทบด้านสังคมหากน้ำท่วมในระดับนั้นๆ ผลกระทบต่อจำนวนประชากร ผลกระทบต่อชนกลุ่มต่างๆ ผลกระทบด้านรายได้ ด้านทรัพย์สิน และผลกระทบต่อสถานที่สำคัญที่เป็นหมายหลัก อย่างไรก็ตาม ออพชั่นเหล่านี้แสดงผลเฉพาะสหรัฐเท่านั้น
เอาเข้าจริง น้ำแข็งขั้วโลกจะไม่ละลายพร้อมๆ กัน จนกลายเป็นสึนามิหรือเหมือนภาพยนตร์แนวโลกาวินาศ แต่ก็ใช่ว่าเราจะนั่งชิลไปเรื่อยๆ สถานการณ์ตอนนี้ คือ New normal ที่คล้ายกับการต้มกบในหม้อน้ำเดือด กว่าที่กบจะรู้ตัวว่าถูกต้ม ก็คงสายเกินการณ์แล้ว
ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ก็สิ้นเนื้อประดาตัวกันถ้วนหน้า
ภาพประกอบ – The Flood of Noah and Companions, by Léon Comerre, c. 1911. Oil on canvas. Fine Arts Museum of Nantes