หย่อมความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวในอันดามัน ความชื้นจากอ่าวไทยปะทะกับลมหนาว ผสมกับความชื้นจากทะเลจีนใต้ทำให้ฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้
ฝนตกหนักจนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ตอนล่างช่วงเวลานี้มีความแตกต่างกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือ เมื่อเดือน ก.ย.-ต.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากฝนไม่ได้ตกลักษณะระเบิดฝน (Rain Bomb) หรือตกกระหน่ำบริเวณเดียวกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาในช่วงเวลาสั้นๆ จนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งความกดอากาศต่ำที่ว่าได้ทำให้หาดใหญ่ต้องเผชิญน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในรอบ 14 ปี
ทั้งนี้ ปัจจัยฝนตกน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้มาจาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ 1) จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวในอันดามัน และเคลื่อนที่ไปยังทิศตะวันตกมุ่งหน้าอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 22-23 พ.ย. โดยฝนตกในระดับ 70 มม. ปัจจัยที่ 2 หย่อมความกดอากาศต่ำได้ดึงความชื้นจากอ่าวไทยปะทะกับลมหนาว พร้อมกับดันความชื้นจากทะเลจีนใต้มุ่งหน้ามายัง จ.สงขลา ทำให้เกิดฝนตกหนักในวันที่ 26-27 พ.ย.ปริมาณฝนสะสม 400-500 มม./วัน
ปัจจัยที่ 3 หย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวในอ่าวไทยจะไปขึ้นฝั่งมาเลเซีย ที่โกตาบารู ซึ่งติดกับ จ.นราธิวาส ทำให้พื้นที่ 3 จังหวัดคือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ฝนตกหนักตั้งแต่ 29 – 30 พ.ย. ไปจนถึง 1 ธ.ค. ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่หลายพื้นที่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาปกติของเดือน พ.ย.ในทุกปีที่เป็นฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้อยู่แล้ว
กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศมาเลเซียที่กำลังเคลื่อนผ่านมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ซึ่งต่อมาได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นในหลายพื้นที่
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตือนว่าให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.–10 ธ.ค. เนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนักในลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง จึงคาดว่าจะเกิดการล้นตลิ่งและเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อย่างไรก็ตาม ย้อนไปในปีที่ 2566 วันที่ 25-27 พ.ย. ฝนตกได้ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ปริมาณน้ำฝน 600 มม./วัน ระยะเวลาเพียง 3 วัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5-7 วัน แต่ไม่ถึงขนาดเกิดน้ำท่วมใหญ่
ในปี 2567 นี้ 4 จังหวัดภาคใต้ ฝนจะตกหนักจากสาเหตุความกดอากาศต่ำไปจนถึงวันที่ 1 ธ.ค. หรือมากกว่านั้น อย่างใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา น้ำจะมาจาก อ.สะเดา (ฝั่งตะวันตก) ซึ่งปริมาณน้ำยังสูงมาก และฝนยังคงตกหนักต่อเนื่องทำให้เมืองเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ตอนล่างแห่งนี้เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง แม้จะไม่หนักเท่าปี 2553 ที่ระดับสูง 2-3 เมตร และท่วมนานต่อเนื่อง 6-7 วันก็ตาม
อุทกภัยครั้งร้ายแรงของหาดใหญ่ เมื่อเดือน พ.ย. 2553 ไฟฟ้าถูกตัดขาด ไม่มีน้ำใช้ ทำให้ประชาชนเกือบ 2 แสนคนได้รับความเดือดร้อนหนัก ระบบเศรษฐกิจเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ครั้งนั้นได้รับเสียหายนับหมื่นล้านบาท มีผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 35 คน ตัวเลขไม่เป็นทางการสูงถึง 233 คน โดยหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นกรมชลประทานต้องผลักดันโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่เพิ่มเติมอีก
สำหรับ อ.หาดใหญ่ เคยเกิดอุทกภัยครั้งรุนแรงเมื่อช่วงเดือน พ.ย. ปี 2531 สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ต่อมาเมื่อ 24 ธ.ค. ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้ขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อแบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาลงสู่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ของหาดใหญ่
ปี 2532 กรมชลประทานจึงดำเนินการขุดลอกคลองธรรมชาติ 4 สาย และในปี 2543 หาดใหญ่ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำอีก สร้างความเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท ในปี 2544 กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำเพิ่มเติมอีก 7 สาย โดยมีคลอง ร.1 ความยาว 21.343 เมตร เป็นคลองระบายน้ำสายหลักที่ผันน้ำจากคลองอู่ตะเภา อ้อมเมืองหาดใหญ่ลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยตรง สามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนอีก 6 สาย เป็นคลองแบ่งน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำ
ต่อมาในปี 2553 ได้เกิดน้ำท่วมหาดใหญ่ขึ้นอีกรอบ กรมชลประทานจึงได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลอง ร.1 และอาคารประกอบ ปัจจุบันสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียงประมาณ 158,000 ไร่ ช่วยระบายน้ำได้เร็วขึ้นประมาณ 1,755 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2559 รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อคลองระบายน้ำสายที่ 1 (ร.1) ว่า “คลองภูมินาถดำริ”
อย่างไรก็ดี กรมชลประทานได้ต่อยอดโครงการระยะที่ 2 ด้วยการขยายคลอง ร.1 จากเดิมระบายน้ำ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เริ่มดำเนินการในปี 2558 ทว่าปี 2567 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ อ.หาดใหญ่ซ้ำอีกรอบ แม้จะไม่หนักเท่าปี 2553 แต่ก็ได้รับความเสียหายในรอบ 14 ปี
ด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ระหว่างวันที่ 22-29 พ.ย. 2567 พบว่า เกิดน้ำท่วมภาคใต้ในพื้นที่ 9 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย คือ จ.ปัตตานี 2 ราย และสงขลา 2 ราย ณ ปัจจุบันน้ำยังคงท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
โดยเฉพาะ จ.ยะลา ถือว่าวิกฤตเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นตลอด 37 ปีที่ผ่านมา อย่างเช่นที่ อ.เบตง ฝนตกหนัก 4 วันติด น้ำท่วมระดับ 1-2 เมตร บางพื้นที่เกิดดินสไลด์ ถนนทรุดหลายจุด บ้านพังเสียหาย และบางพื้นที่ใน อ.เมืองยะลาถูกตัดขาด ในขณะที่ จ.สงขลา ก็วิกฤติไม่แพ้กัน ซึ่งเพจ Hatyai Focus – หาดใหญ่โฟกัส รายงานว่า สงขลามีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้ง 16 อำเภอ 110 ตำบล 705 หมู่บ้าน มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 117,000 ราย
ขอบคุณข้อมูลจาก:
https://www.thaipbs.or.th/news/content/346721
https://www.prachachat.net/general/news-1703467
https://www.songkhla.go.th/news/detail/4271
https://www.hatyaifocus.com/news-detail/27259/
https://www.bbc.com/thai/articles/c75l2wv0qvlo