พายุมาอีก 2 ลูก น้ำทะเลหนุนสูง สนทช.มั่นใจไม่ท่วมใหญ่เหมือนปี 54

by Chetbakers

สทนช.ประเมินสถานการณ์อุทกภัยย้อนหลัง มั่นใจไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 แต่ไม่ควรประมาท เพราะมีพายุอีก 2 ลูก และน้ำทะเลหนุนสูง

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 30 ส.ค.- 5 ก.ย.นี้ เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ที่จะเสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กทม. สมุทรปราการ คาดว่าระดับน้ำบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จ.สมุทรปราการ จะมีความสูง 1.7 – 2 เมตร

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 28 ส.ค. 2567 ปริมาณน้ำที่ผ่านประตูระบายน้ำหรือสถานีวัดน้ำ C.2 ค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันปล่อยน้ำอยู่ที่ 1,243 ลบ.ม.ต่อวินาที และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ อ.สรรพยา อยู่ที่ 1,099 ลบ.ม.ต่อวินาที

การบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันออก (ของแม่น้ำเจ้าพระยา) จะรับน้ำเหนือเข้าคลอง ดังนี้ คลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ คลองชัยนาท-อยุธยา ผ่านประตูระบายน้ำมหาราช และคลองเล็กอื่นๆ 112 ลบ.ม.ต่อวินาที

การบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันตก จะรับน้ำเข้าคลอง ประกอบด้วย คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน ผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ, แม่น้ำน้อย ผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุ และคลองเล็กอื่นๆ 126 ลบ.ม.ต่อวินาที

เขื่อนป่าสักฯ ระบายน้ำออก 101 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 227 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีวัดน้ำ C.29A ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 1,021 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งสถานีวัดน้ำ C.29A คือจุดพลิกผัน หากปล่อยน้ำเกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ไปจนถึง 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะเป็นสัญญาณน้ำท่วมใหญ่ โดยปี 2554 จุดนี้ปล่อยน้ำอยู่ที่ 3,860 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้เกิดมหาอุทกภัย

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า จากการร่วมประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในขณะนี้พบว่า จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 โดยเทียบความรุนแรงระหว่างปี 2554 ปี 2565 และปี 2567 ดังนี้

ปี 2554 เกิดพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 5 ลูก ประกอบด้วย พายุโซนร้อนไห่หม่า เดือน มิ.ย. พายุนกเตน เดือน ก.ค. พายุไห่ถาง เดือน ก.ย. พายุเนสาด เดือน ต.ค. และพายะนาลแก ปลายเดือน ต.ค.

ปี 2565 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 1 ลูก ได้แก่ พายุไต้ฝุ่นโนรู ช่วงเดือน ก.ย. และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันและไต้ฝุ่นที่เข้ามาบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน

ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือน ก.ย. หรือ ต.ค.

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนสะสม พบว่า ปี 2554 ฤดูฝนในไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติและมีฝนตกสะสมต่อเนื่อง โดยไม่มีภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติ 24% และมีค่ามากที่สุดนับจากปี 2494 ในปี 2565 มีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศ 1,876 มม. สูงกว่าค่าปกติ 27% หรือมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 40 ปี ซึ่งหมายรวมถึงมากกว่าปี 2554 ที่ไทยเกิดอุทกภัยร้ายแรง แต่ในปี 2565 กลับพบว่าสถานการณ์อุทกภัยไม่รุนแรงและยาวนานเหมือนปี 2554

สำหรับปี 2567 ณ เดือน ส.ค.นี้ปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศยังคงต่ำว่าค่าปกติ ร้อยละ 4 และต่ำกว่า ปี 2554

เปรียบเทียบศักยภาพในการรองรับน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 24 ส.ค. ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า ปี 2554 สามารถรองรับได้ 4,647 ล้าน ลบ.ม. ปี 2565 สามารถรองรับ 11,929 ล้าน ลบ.ม. สำหรับปี 2567 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 12,071 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อดูปริมาณน้ำท่า ณ วันที่ 24 ส.ค. พบว่า ปี 2554 สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,284 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 4,689 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 1,832 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,726 ลบ.ม./วินาที)

ในปี 2565 สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,582 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,099 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 1,500 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,169 ลบ.ม./วินาที)

สำหรับปี 2567 ปริมาณน้ำท่ายังคงอยู่ในการควบคุมและเป็นไปตามแผน กล่าวคือ ที่สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 837 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าจะสูงสุด 2,860 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 499 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าสูงสุด 2,700 ลบ.ม./วินาที)

อิทธิพลของมรสุมที่ทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ต่างๆ และส่งผลให้เกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน จากประเมินสถานการณ์ของหน่วยงานต่างๆ แล้วพบว่า ปริมาณฝนตกในทุกพื้นที่ขณะนี้ระดับความรุนแรงยังเทียบไม่ได้กับปี 2554

ข้อมูลที่เลขาธิการ สนทช.นำมาเปรียบเทียบ จึงทำให้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่า จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันข้อมูล ณ วันที่ 25 ส.ค. 2567 บริเวณภาคเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีปริมาณฝนตกสะสม 24 ชม. สูงสุดวัดได้ที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย 147 มิลลิเมตร อ.ลอง จ.แพร่ 96 มิลลิเมตร และ อ.สองแคว จ.น่าน 93 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่แม่น้ำน่านและแม่น้ำสาขา ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งที่ อ.เวียงสา จ.น่าน ระดับน้ำ 8.53 เมตร สูงกว่าระดับตลิ่ง 2.03 เมตร โดยปริมาณน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านจะไหลลงเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 2,990 ล้าน ลบ.ม.

ลุ่มน้ำยมได้พร่องน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ และเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ 265,000 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่แม่น้ำยมตอนบน และผันน้ำไปยังแม่น้ำน่าน ทั้งนี้จะทำให้ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 944 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2567 น้ำเหนือได้ทะลักเข้าท่วมใน อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย 4 หมู่บ้านของ 2 ตำบล คือ หมู่ 6 บ้านวังใหญ่ ต.วังใหญ่, หมู่ 4, 7 และ 8 บ้านวังทอง ต.วังทอง ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำยมตรงข้ามวัดวังใหญ่ เนื่องจากคันดินที่อยู่ติดกับเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมพังทลายยาวกว่า 30 เมตร ทำให้บ้านมากกว่า 100 หลังคาเรือนจมน้ำในความสูงระดับอก หรือประมาณ 1.50 เมตร

กรมชลประทาน แจ้งว่า ระหว่างวันที่ 24-30 ส.ค.นี้ ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ คาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1-3 วันข้างหน้า พบว่าปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเฝ้าระวังใน 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึง กทม. โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมหนักในภาคเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ และสุโขทัย โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า สาเหตุน้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในเดือน ส.ค. เกิดจากฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา และปริมาณฝนเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 – 21 ส.ค. เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยในระยะนี้มีกำลังอ่อนถึงปานกลางและมีกำลังค่อนข้างแรงเป็นบางช่วง ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องเกือบทุกวัน และตกหนักถึงหนักมากในบางวัน

ทั้งนี้ คาดว่าร่องมรสุมที่พาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือจะเริ่มเลื่อนต่ำลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น จึงทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักในพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน ภาคตะวันออก ภาค กลาง กทม. และปริมณฑลอีกระยะ

สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยมีฝนตกหนักถึงมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก (อันดามัน) และคลื่นลมจะมีกำลังแรงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศดังกล่าวยังคงทำให้พื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมขังในภาคเหนือยังมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัยในระยะนี้ โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมอืการเกิดอุทกภัยสูง ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วนภาคตะวันออก ได้แก่ จ.จันทบุรี และตราด

Cr.ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

 

Copyright @2021 – All Right Reserved.