เราไม่มีทางด่วนน้ำ หรือฟลัดเวย์ให้น้ำจากเหนือลงสู่อ่าวไทยอย่างรวดเร็ว จึงต้องลุ้นอุทกภัยกันทุกปี เจอแล้งซ้ำซาก เพราะไม่มีการบริหารจัดการที่ดี
ประเทศไทยไม่มีฟลัดเวย์ หรือทางด่วนเพื่อผันน้ำจากภาคเหนือลงสู่อ่าวไทย ทำให้คนริมแม่น้ำเจ้าพระยาหวาดผวาสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะคนกรุงเทพที่ขี้กลัวกว่าคนที่อื่น แต่ก่อนจะตกอกตกใจขนของขึ้นที่สูง มาทำความเข้าใจมวลน้ำที่กำลังมาจากภาคเหนือกันก่อน
1. แม่น้ำจากภาคเหนือมี 4-5 สาย นั่นคือ แม่น้ำปิง มีเขื่อนภูมิพลกั้นอยู่ที่ จ.ตาก, แม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ กั้นน้ำอยู่ที่ จ.อุตรดิตถ์, แม่น้ำวัง มีเขื่อนกิ่วลม กั้นอยู่ที่จ.ลำปาง และแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายเดียวในพื้นที่ภาคเหนือที่ไม่มีเขื่อนกั้น หากมีฝนตกหนักมวลน้ำมหาศาลจะไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจาก จ.แพร่ และพะเยา แม่น้ำยมกำเนิดที่เทือกเขาผีปันน้ำในพะเยาไหล ผ่านลำปางบางส่วน และเข้าสู่แพร่ หากมีพายุเข้าหรือมีร่องมรสุมกำลังแรงทำให้ฝนตกปริมาณมาก น้ำจะไหลผ่านจาก จ.แพร่ เข้าสู่พื้นที่สุโขทัยทั้งหมด โดยน้ำจะท่วม พะเยา แพร่ สุโขทัย และพิษณุโลก นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำแควน้อย ที่มีเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก กั้นน้ำที่จะไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.ชุมแสง อ.ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์
2. แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลผ่าน จ.อุทัยธานี โดยจะบรรจบกับแม่น้ำสะแกกรัง ไหลผ่าน จ.ชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยาจะมีเขื่อนเจ้าพระยากั้นกลางที่ อ.สรรพยา และมีประตูระบายน้ำปิดเปิดตามกำหนด
3. แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา แต่ฝั่งตะวันออกจะมีแม่น้ำป่าสักที่จะมีระบายน้ำออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี กรณีมีปริมาณน้ำมาก ซึ่งจะระบายระบายมายัง จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่านเขื่อนพระรามหกและมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดพนัญเชิง ไหลเข้าสู่ จ.ปทุมธานี, นนทบุรี กรุงเทพ และออกสู่อ่าวไทยที่ อ.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ ขณะเดียวกันฝั่งตะวันตก หากปริมาณน้ำมากจะมีการระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีน
4. เข้าฤดูฝนในทุกปี หากเจอพายุหลายลูกฝนจะตกหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำมาก กรุงเทพฯ จะท่วมหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ 3 ปัจจัย คือ น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน ดังนั้นถ้ามีการบริหารจัดการน้ำที่ดี หน้าฝนในทุกปีก็ไม่ต้องหวาดผวาน้ำท่วม แต่เราไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีพอ น้ำมากเราไม่มีทางผันน้ำที่รวดเร็ว ไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจึงท่วมทุกปี น้ำน้อยก็เกิดภัยแล้งซ้ำซาก ซึ่งโดยรวมอาจเรียกว่าเราล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำ
5. อย่างไรก็ตาม การจะทราบว่าน้ำท่วมกรุงเทพและปริมณฑลหรือไม่ ให้ดูจากปริมาณน้ำที่ผ่านประตูระบายน้ำหรือสถานีวัดน้ำ อันดับแรกดูที่สถานีวัดน้ำ C.2 ค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ ซึ่งปัจจุบันปล่อยน้ำอยู่ที่ 1,061 ลบ.ม.ต่อวินาที และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ อ.สรรพยา อยู่ที่ 700 ลบ.ม.ต่อวินาที ถ้าสถานีนี้ปล่อยน้้ำเกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 0.3-1 เมตร กระทบกับพื้นที่ริมเจ้าพระยาของ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี นครสวรรค์
6. ต่อมาดูที่สถานีวัดน้ำ C.29A ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จุดนี้หากปล่อยน้ำเกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 0.3- 1 เมตรจากปกติทำให้น้ำล้นตลิ่ง จะเริ่มมีผลกระทบพื้นที่ริมเจเาพระยาใน จ.ปทุมธานี นนทบรี กรุงเทพ และสมุทรปราการ แต่หากระดับน้ำสูงมากกว่านั้นหรือเกิน 1 เมตร จะเป็นสัญญาณอันตรายโดยเฉพาะถ้าจุดนี้เริ่มปล่อยน้ำเกิน 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ต้องเตรียมหนีน้ำ ซึ่งปี 2554 จุดปล่อยน้ำอยู่ที่ 3,860 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์
7. ปัจจุบันปริมาณน้ำฝั่งตะวันออก ณ วันที่ 26 ส.ค. 2567 เขื่อนป่าสักฯ ระบายน้ำออก 100 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 154 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.29A ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันจุดนี้น้ำผ่าน 989 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนั้นถือว่าปัจจุบันคนกรุงยังไม่เสี่ยง เว้นแต่ร่องมรสุมและพายุพัดเข้ามากขึ้นและแรงขึ้นบวกกับน้ำทะเลหนุน โดยต้องจับตาดูช่วงกลางเดือน ก.ย.ถึงต้นเดือน ต.ค.นี้
8. การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานในปัจจุบัน ฝั่งตะวันออก (ของแม่น้ำเจ้าพระยา) จะรับน้ำเหนือเข้าคลอง ดังนี้ คลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ คลองชัยนาท-อยุธยา ผ่านประตูระบายน้ำมหาราช และคลองเล็กอื่นๆ 122 ลบ.ม.ต่อวินาที
9. การบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันตก จะรับน้ำเข้าคลอง ประกอบด้วย คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน ผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ, แม่น้ำน้อย ผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุ และคลองเล็กอื่นๆ 151 ลบ.ม.ต่อวินาที
10. หลังผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้มีการผลักดันโครงการก่อสร้างฟลัดเวย์ หรือทางผันน้ำฝั่งตะวันออกและตะวันตก ขนาดการระบายน้ำไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม. มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท โดยฝั่งตะวันออกจะขุดคลองและถนน 4 เลน ระยะทาง 270 กม. ผ่าน 6 จังหวัด คือ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ใช้แนวคลองชัยนาท-ป่าสัก-ระพีพัฒน์ และอีกเส้นคือฝั่งตะวันตก ระยะทาง 300 กม. จากนครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี และสมุทรสาคร ทั้งหมดนี้มจะเวนคืนที่ดิน 3 หมื่นไร่-1.4 แสนไร่ แต่โครงนี้ก็พับไปในปี 2556 (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) แม้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในขณะนั้นได้คัดเลือกเอกชนเตรียมประมูลโครงการแล้ว