ภัยแล้งฉับพลัน ความปกติใหม่จากภาวะโลกรวน

‘ภัยแล้งฉับพลัน’ ความปกติใหม่จากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความชื้นในดินลดต่ำลง และรูปแบบการเกิดฝนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

โดยทั่วไปภัยแล้งเป็นปรากฏการณ์ระยะยาวที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ คงอยู่ได้นานแม้ฝนไม่ตก แต่ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนสมการภัยแล้งให้เป็น ‘ภัยแล้งฉับพลัน’ ที่เกิดขึ้นได้แบบกระทันหันภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

แนวคิดเรื่องภัยแล้งฉับพลันเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 แต่ไม่ได้รับความสนใจจนกระทั่งปี 2555 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรงในสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามรายงานการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science นำโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนพบว่าภัยแล้งตามฤดูกาลพัฒนาเร็วขึ้นเป็นภัยแล้งแบบเฉียบพลันและอาจรุนแรงขึ้นในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ทีมศึกษาได้จำแนกประเภทของภัยแล้งนอกฤดูว่าเป็นภัยแล้งแบบช้าๆ หรือฉับพลันจากการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศจากดาวเทียมและการอ่านค่าความชื้นในพื้นดินระหว่างปี 2494 – 2557

จากนั้นคำนวณอัตราส่วนของภัยแล้งฉับพลันต่อภัยแล้งนอกฤดูกาลทั้งหมด รวมถึงความเร็วของการเกิดเพื่อดูว่ามีแนวโน้มทั่วโลกไปสู่ภัยแล้งฉับพลันหรือไม่

ซิง หยวน ผู้วิจัยหลักกล่าวกับเอเอฟพีว่าเมื่ออุณภูมิโลกสูงขึ้น ดินสูญเสียความชื้นอย่างรวดเร็ว พืชไม่มีเวลาพอจะปรับตัว และในบางพื้นที่มีฝนตกลดลงส่งผลให้เกิดภัยแล้งฉับพลันในหลายพื้นที่ ทั้งในยุโรป เอเชียเหนือ เอเชียตะวันออก ซาเฮล และชายฝั่งทะเลตะวันตกของอเมริกาใต้

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศเพื่อคาดการณ์ว่าภัยแล้งฉับพลันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรภายใต้สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปได้หลายประการ

ผลออกมาว่าแม้ว่าการปล่อยมลพิษจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่ภัยแล้งฉับพลันจะยังคงเกิดขึ้นบ่อยในทุกภูมิภาค และหากโลกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่มีการปล่อยมลพิษระดับสูง แนวโน้มภัยแล้งก็จะรุนแรงมากขึ้น

ภัยแล้งฉับพลันกลายเป็นคือความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งนักวิจัยเตือนว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้มนุษย์มีเวลาน้อยในการปรับตัว เช่น การเปลี่ยนแหล่งน้ำหรือการเตรียมพร้อมสำหรับไฟป่า

“เราเชื่อว่าการลดการปล่อยมลพิษสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงนี้ได้” หยวนให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

บทวิจารณ์โดยศาสตราจารย์เดวิด วอล์เกอร์ จาก Wageningen University  และ แอน แวน ลูน จาก Vrije Universiteit กล่าวว่าคำเตือนของการศึกษานี้ ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง เนื่องจากภัยแล้งฉับพลัน อาจรุนแรงกว่าที่ศึกษาไว้

ทั้งคู่ยังเสริมด้วยว่าวิธีการตรวจจับภัยแล้งในปัจจุบัน ซึ่งมักจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลแบบรายเดือนอาจไม่ทันการณ์ควรปรับปรุงดำเนินการในช่วงเวลาที่สั้นลงเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของภัยแล้งฉับพลันซึ่งอาจสร้างและกระตุ้นผลลัพธ์ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

อ้างอิง

  • Apr 13, 2023. A global transition to flash droughts under climate change. Science
  • Apr 16, 2023. ‘Flash drought’ frequency increasing due to climate change: study. Phys.org

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน