‘อวนล้อมจับ – อวนตาถี่’ หายนะใหม่ ทะเลไทย?

 

ปมร้อน พ.ร.ก.ประมง มาตรา 69 ชวนทำความรู้จัก “อวนล้อมจับ – อวนตาถี่” ทำไมกลายเป็นภัยคุกคามต่อความยั่งยืนของทะเลไทย ระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลพัง?

 

ในท้องทะเลไทยที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ การทำประมงด้วยวิธีการต่างๆ ได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะวิธีการใช้ “อวนล้อมจับ” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็มาพร้อมกับผลกระทบที่รุนแรงต่อความยั่งยืนของทะเลไทย

 

และยิ่งตอกย้ำขึ้นไปอีก เมื่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.ก.ประมง มาตรา 69 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร กำลังกลายเป็นปัญหา ด้วยเนื้อหาสาระที่มีการปรับแก้ใหม่ ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน” นั่นหมายความว่า หากอยู่นอกเขต 12 ไมล์ทะเล จะสามารถใช้อวนล้อมจับที่มีช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรได้ รวมถึงใช้งานในเวลากลางคืนได้ด้วย

 

อวนล้อมจับ คืออะไร

 

อวนล้อมจับ เป็นเครื่องมือประมงชนิดหนึ่งที่ใช้ในการจับสัตว์น้ำที่อยู่รวมกันเป็นฝูง โดยการล่อลวงฝูงปลาไว้ด้วยอวนขนาดใหญ่ก่อน ปกติแล้วจะทำการล้อมฝูงปลาด้วยการวางอวนรอบๆ และจากนั้นจะรัดอวนให้แน่น เพื่อให้ปลาไม่สามารถหลบหนีได้ โดยอวนล้อมจับมักจะถูกใช้ในการจับปลาขนาดใหญ่ หรือเป็นฝูง เช่น ปลาทูน่า, ปลาซาร์ดีน หรือปลาในกลุ่มปลาตะเภา

 

หลักการเลือกใช้ขนาดตาอวนของเครื่องมือนี้ ต้องไม่ทำให้สัตว์น้ำเป้าหมายหลักติดอยู่ที่ตาอวนมากเกินไป เพราะจะทำให้อวนมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น กู้อวนได้ช้า และสัตว์น้ำเสียคุณภาพ ด้วยเหตุนี้อวนล้อมจับจึงมีขนาดตาอวนหลายขนาด ขึ้นอยู่กับขนาดของสัตว์น้ำเป้าหมายหลัก การเรียกชื่อเครื่องมืออวนล้อมจับของไทยส่วนใหญ่ เรียกตามชาวประมง ซึ่งตั้งชื่อหลากหลาย บางชนิดเรียกชนิดสัตว์น้ำที่เป็นเป้าหมายหลัก เช่น อวนล้อมจับปลากะตัก

 

ดังนั้น การเรียกชื่อเครื่องมือในประเภทอวนล้อมจับ กำหนดให้เป็นระบบเดียวกัน คือ ใช้ขนาดตาอวนเป็นตัวกำหนด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อข้อมูลทางการประมงทะเลในอนาคต แต่เนื่องจากอวนล้อมจับของไทย มีวิธีการปิดด้านล่างของผืนอวนอยู่ 2 วิธี คือ แบบมีสายมาน และแบบอื่นซึ่งไม่ใช้สายมาน จึงได้แยกชนิดของอวนล้อมจับออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ อวนล้อมจับมีสายมาน มี 5 ชนิด และอวนล้อมจับไม่มีสายมาน มี 2 ชนิด ซึ่งแบบมีสายมานนั้นจะพบมากที่สุด ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99 ของอวนล้อมจับทั้งหมด

 

การทำประมงด้วยอวนล้อมจับ มีประสิทธิภาพสูงในการจับปลาในปริมาณมากในครั้งเดียว แต่ก็มาพร้อมกับปัญหาหลายด้าน เช่น

  • การจับปลาวัยอ่อน: อวนล้อมจับสามารถจับปลาวัยอ่อนได้มาก ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของประชากรปลาในอนาคต
  • การจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมาย: สัตว์น้ำอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายการจับของชาวประมงก็มักถูกจับได้ด้วย เช่น ปลาวัยอ่อน, สัตว์ทะเลต่างๆ หรือแม้แต่สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์
  • ผลกระทบต่อระบบนิเวศ: การจับปลาในปริมาณมากและต่อเนื่องอาจทำให้สมดุลของระบบนิเวศทางทะเลเสียไป

 

นอกจากนี้ จากข้อความที่กำหนดใน พ.ร.ก.ประมง มาตรา 69 “เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร” หมายความว่า ความห่างของช่องว่างของอวน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตาอวน” จะมีขนาดเล็กมาก เท่ากับมุ้ง ที่เราใช้คลุมเตียงนอน (ชาวบ้านจึงเรียกว่า “อวนตามุ้ง”) หรือ อวนตาถี่

ขนาดของอวนตาถี่

 

อวนตาถี่ คืออะไร

 

อวนตาถี่ หมายถึงอวนที่มีขนาดของตาอวน (ช่องว่างระหว่างเส้นด้ายที่ทอเป็นอวน) เล็กมาก ทำให้สามารถจับสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กได้ด้วย ลักษณะเด่นของอวนตาถี่มีดังนี้

  • ขนาดตาอวนเล็ก: ขนาดของตาอวนอาจเล็กกว่า 1 เซนติเมตรหรือแม้แต่น้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการจับสัตว์น้ำที่ต้องการ
  • สามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็กได้: อวนตาถี่จะจับปลาวัยอ่อน, กุ้ง, หอย หรือสัตว์น้ำขนาดเล็กอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

แต่เนื่องจาก อวนตาถี่ สามารถจับสัตว์น้ำวัยอ่อนได้มาก การใช้อวนตาถี่จึงถูกมองว่า เป็นภัยคุกคามต่อความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ เพราะปลาวัยอ่อนเหล่านี้ ยังไม่มีโอกาสเจริญเติบโตจนถึงวัยที่สามารถสืบพันธุ์ได้ ซึ่งในหลายประเทศ มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้อวนตาถี่ เพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรทางทะเล มีการกำหนดขนาดตาอวนขั้นต่ำที่อนุญาตให้ใช้ เพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อน

 

ดังนั้น การใช้อวนตาถี่ จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ในแง่ของการจัดการประมงอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรสัตว์น้ำจะไม่ถูกใช้เกินขีดความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองของระบบนิเวศทางทะเล

 

แต่ใจความสำคัญของเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ มาตรา 69 คือ “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวน เล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่ง ในเวลากลางคืน” นั่นหมายความว่า อนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ได้นอกพืันที่ 12 ไมล์ทะเล ตามที่กระทรวงกำหนด

 

ผู้ที่เห็นต่าง อย่างปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย มองว่า การใช้อวนตาถี่ขนาดเท่ามุ้ง จะกวาดสัตว์น้ำขนาดเล็กมาหมด กุ้งเคย และลูกปลา จะถูกกวาดจับมาด้วย ซึ่งทำให้ประชากรปลารุ่นใหม่ เข้าไปแทนที่รุ่นเก่าไม่ทัน ซึ่งที่ผ่านมา กฏหมายอนุญาตให้ใช้ อวนตาถี่ได้ เฉพาะช่วงกลางวัน เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการพิสูจน์ว่า มันจะไม่จับสัตว์น้ำชนิดอื่นเกิน 7%

 

“กลางคืน ห้ามใช้เลย เพราะมันจะจับสัตว์น้ำชนิดอื่น 100% ต่อให้ใช้นอก 12 ไมล์ทะเล แต่เอาจริงๆ สัตว์น้ำเขาไม่มีอาณาเขต เรือทุกลำก็จะใช้กันหมด ทะเลก็จะพัง” นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย แสดงความไม่เห็นด้วย

 

บทสรุป

ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบเหล่านี้ จึงมีการเรียกร้องให้มีการควบคุมการใช้อวนล้อมจับอย่างเข้มงวด รวมถึงการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน เช่น การกำหนดขนาดตาอวนขั้นต่ำ การจำกัดเวลาและพื้นที่ในการทำประมง และการสนับสนุนการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิธีการประมง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำประมงสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน และไม่ทำลายระบบนิเวศทางทะเล

 

 

 

 

อ้างอิง :

 

Related posts

เปลี่ยนวิธีจัดการ ‘ตอซังข้าว’ ลด PM2.5 ด้วย ‘จุลินทรีย์ย่อยสลาย’

14 มกราคม ‘วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ’ ร่วมปกป้องผืนป่าไทย

เปิดอาชีพ ‘ทักษะสีเขียว’ ที่โลกกำลังต้องการ ปี 2025