นำร่องใช้งาน ‘รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ’ คันแรกของไทย พาเที่ยวอยุธยา

เปิดตัว “รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ” คันแรกของไทย วิ่งให้บริการฟรีรอบอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หวังยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับในอนาคต ช่วยลดมลพิษอากาศและเสียงเขตโบราณสถาน ซึ่งจะช่วยให้พระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองน่าเที่ยวระดับสากล

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานพิธีเปิดตัวรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบเทคโนโลยี 5G คันแรกของไทย เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา บริเวณด้านหน้าโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา

สำหรับรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับคันนี้เป็นโครงการนำร่องเปิดทดลองใช้งานเป็นครั้งแรกบนถนนสาธารณะ จะให้บริการฟรีไม่คิดค่าโดยสาร บริเวณรอบอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (บึงพระราม) เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2567 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2567 (6 เดือน)

เป็นผลงานการศึกษาวิจัยและพัฒนา โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ทุนจำนวน 27 ล้านบาท และมอบหมายให้ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รับผิดชอบหลักในการพัฒนา

โดยร่วมกับบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ 5G และระบบเทคโนโลยีดิจิทัล นำองค์ความรู้ด้านการเชื่อมต่อระบบสื่อสารเทคโนโลยีที่เรียกว่า C-V2X หรือ Cellular Vehicle-to-Everything บนเครือข่าย 5G มาประยุกต์ใช้

นอกจากนี้มีบริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด เชี่ยวชาญด้านระบบหุ่นยนต์และยานยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ และ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรถโดยสาร EV ใช้เวลาดำเนินโครงการ 20 เดือน (พ.ย. 65 – ก.ค. 67) มีขนาด 20 ที่นั่ง

ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน “5G Auto Bus” และจองที่นั่งได้ล่วงหน้า สามารถดูตำแหน่งปัจจุบัน และเวลาที่รถจะมาถึง ระยะแรกจะทดลองวิ่งให้บริการในเส้นทางรอบบึงพระรามอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันศุกร์-วันอังคาร เวลา 09.00-17.00 น.

มีป้ายจอดรถบัส 4 แห่ง รอบบึงพระราม ได้แก่ 1. ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองพระนครศรีอยุธยา 2. วัดมหาธาตุ  3. วัดธรรมิกราช  และ 4. วัดพระราม รวมระยะทางทั้งสิ้น 2.8 กิโลเมตร

​นอกจากโครงการนี้จะช่วยพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับในไทยแล้ว ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ยังช่วยลดมลพิษจากรถยนต์สันดาปและลดมลพิษทางเสียงจากรถขนส่งนักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปในเขตโบราณสถาน

ทั้งนี้ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เมืองประวัติศาสตร์อย่างอยุธยาเป็นเมืองที่น่าอยู่ และน่าท่องเที่ยวระดับสากล ช่วยยกระดับการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE มจธ. กล่าวว่า รถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ 5G ต้นแบบคันนี้มีการพัฒนาและติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเข้าไปในรถบัสไฟฟ้าซึ่งถูกผลิตในประเทศ การพัฒนาระบบควบคุมรถจากข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากเซ็นเซอร์ การทำแผนที่ความละเอียดสูงในเส้นทางวิ่งที่กำหนด และการเขียนโปรแกรมในการควบคุมและสั่งการรถบัส

รถสามารถขับเคลื่อนได้เองตามเส้นทางวิ่งที่กำหนดไว้ แต่ยังจำเป็นต้องมีพนักงานขับขี่นั่งอยู่หลังพวงมาลัยเพื่อความปลอดภัย และการตัดสินใจในบางสถานการณ์ ถือเป็นรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับคันแรกที่พัฒนาจากหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนไทย

​ขณะที่ สยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท TKC ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน กล่าวว่า TKC ได้ร่วมวิจัยในการออกแบบตัวระบบ และทำแท่นชาร์จอีวีร่วมกับ มจธ.ซึ่งเป็นแท่นชาร์จที่ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยฝีมือคนไทยทั้งหมด จึงเป็นรถบัสอีวีไร้คนขับคันแรกของไทย

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่