กรมอุทยานฯ ตั้งทีมใหม่ ดับไฟป่าจุดสำคัญ 16 แห่ง มั่นใจปีนี้ (ถูกตัดงบ) ‘เอาอยู่’?

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดตั้งกองอำนวยการควบคุมไฟป่าขึ้นใหม่จำนวน 16 แห่ง เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ปัญหาไฟป่าประจำปี 2565 ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกปีเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง

ผลกระทบจากการเกิดไฟป่านอกจากสร้างความเสียหายให้แก่ผืนป่าโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันจากไฟป่าได้สร้างความเสียหายด้านสุขภาพของประชาชน ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งกรมอุทยานฯ จึงได้จัดตั้งกองอำนวยการควบคุมไฟป่าเพื่อดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ และพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ จำนวน 16 แห่ง ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการนำร่องเปิดกองอำนวยการควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้ง ณ สถานีควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เป็นแห่งแรก ประกอบด้วย กองอำนวยการควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ 1 จ.ปราจีนบุรี กองอำนวยการควบคุมไฟป่าแก่งกระจาน จงเพชรบุรี กองอำนวยการควบคุมไฟป่าแก่งกระจาน (ป่าละอู) จ.ประจวบคีรีขันธ์

กองอำนวยการควบคุมไฟป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช กองอำนวยการควบคุมไฟป่าป่าพรุทะเลน้อย จ.พัทลุง กองอำนวยการควบคุมไฟป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส กองอำนวยการควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ 2 จ.นครราชสีมา กองอำนวยการควบคุมไฟป่าภูกระดึง จ.เลย กองอำนวยการควบคุมไฟป่าพระตำหนักภูพาน จ.สกลนคร กองอำนวยการควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

กองอำนวยการควบคุมไฟป่าตาก จ.ตาก กองอำนวยการควบคุมไฟป่าดอยตุง จ.เชียงราย กองอำนวยการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ กองอำนวยการควบคุมไฟป่าดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ กองอำนวยการควบคุมไฟป่าแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน และกองอำนวยการควบคุมไฟป่าพระราชวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า กองอำนวยการทั้งหมดนี้มีหน้าที่จัดกำลังเจ้าหน้าที่ออกรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่เพื่อป้องกันไฟป่าและการปฏิบัติงานการจัดการเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดปัญหาไฟป่า รวมถึงการลาดตระเวนเฝ้าระวัง การรับแจ้งเหตุ และการดับไฟป่า

นอกจากนี้จะบูรณาการที่เข้มข้นด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพในระดับสูงทั้งจากหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้การตรวจติดตามสถานการณ์ไฟป่าอย่างใกล้ชิด การดับไฟป่าในพื้นที่มีประสิทธิภาพเข้าปฏิบัติงานได้อย่างทันที และทันต่อสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น

นอกจากการกำหนดแผนดับไฟป่าตามสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าทั่วไปแล้ว ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นต้น หรือพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษซึ่งเป็นที่ตั้งของพระตำหนักทุกแห่ง

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกองอำนวยการควบคุมไฟป่าของกรมอุทยานฯ เกิดขึ้นในขณะที่กรมถูกปรับลดงบประมาณและต้องลดจำนวนเจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังลดเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าลงด้วย โดยล่าสุดกรมอุทยานฯ กำลังเจรจาของบกลางจากสำนักงวบประมาณเพิ่มอีก 400 ล้านบาท แต่คาดว่าจะได้ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูไฟป่า

ขณะที่สถานการณ์ไฟป่าในช่วงที่ผ่านมาในทุก ๆ ปีพบว่า จุดความร้อนที่เกิดไฟป่ามักอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่นข้อมูลภาพจากดาวเทียม Suomi NPP ของระบบเวียร์ (VIIRS) ของจิสด้า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ระบุว่า พบจุดความร้อนทั้งประเทศมากถึง 3,057 จุด โดยพบมากสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือและภาคตะวันตก

แบ่งเป็นจุดความร้อนมากสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,438 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,004 จุด พื้นที่เกษตร 247 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 203 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 154 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 11 จุด จุดที่หนาแน่นอยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากอันดับต้น ๆ ดังนี้ จ.กาญจนบุรี 388 จุด และเกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สูงถึง 300 จุด

จ.ลำปาง 311 จุด พบมากสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 183 จุด จ.ตาก 265 จุด พบมากสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 159 จุด จ.เพชรบูรณ์ 228 จุด พบมากสุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 110 จุด จ.แพร่ 188 จุด พบมากสุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 122 จุด

สาเหตุเบื้องต้นคาดว่า เกิดจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่และเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร ในขณะที่บริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบเห็นจุดความร้อนเช่นกันแต่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้พบจุดความร้อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จิสด้าระบุว่า สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยมีจุดที่ต้องเฝ้าระวังฝุ่นควันข้ามแดนมากเป็นพิเศษบริเวณชายแดนแม่ฮ่องสอน และตาก

สำหรับข้อมูลดาวเทียมของจิสด้าล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 402 จุด เพิ่มขึ้นจากวันที่ 17 มกราคม 199 จุด โดยพบมากสุดในพื้นที่เกษตร 161 จุด เขต สปก. 67 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 66 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 51 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 46 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 11 จุด

จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุด คือ กาฬสินธุ์ 33 จุด ชัยภูมิ 33 จุด และลพบุรี 31 จุด ด้านประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนที่กัมพูชาต่อเนื่อง 8 วันติด 1,232 จุด เมียนมา 229 จุด

สำหรับแนวทางการรับมือไฟป่าในปี 2565 ที่ประชุม ครม.วันที่ 28 ธันวาคม 2564 มีมติรับทราบร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 และมอบหมายหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามร่างแผนเฉพาะกิจฯ ที่กระทรวงทรัพย์เสนอ นั่นคือแผน “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ” ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564

แผนดังกล่าวจะมีการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า และให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองบรรจุในแผน ปภ.จังหวัด รวมถึงขยายผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยการเก็บขน (ชิงเก็บ ลดเผา) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน พื้นที่ริมทาง และประยุกต์ใช้แอปพลิเคชั่นลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Burn Check)

นอกจากนี้ จะเพิ่มความเข้มงวดควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรมในเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าธรรมชาติ และกำหนดตัวชี้วัดร่วมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อตกลงอาเชียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนและขยายหมู่บ้านคู่ขนานชายแดนภายใต้กรอบคณะกรรมการชายแดน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงทรัพย์ได้รายงานต่อที่ป่ระชุม ครม. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ว่าในปี 2560 ได้เริ่มใช้กลไก พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี 2550 เพื่อให้ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการแก้ปัญหาไฟป่า ได้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชน และมีการถอดบทเรียนการทำงานเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บริบท และเทคโนโลยี

โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการภายใต้แผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตามมติ ครม. ทำให้สามารถดำเนินการได้ทันทีในทุกระดับและทุกหน่วยงานโดยไม่มีข้อจำกัดทั้งเรื่องแผนงานและงบประมาณ ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองมาเป็นลำดับ

จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าปริมาณจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือลดลงกว่าร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ในห้วงเวลาเดียวกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ (ตามที่ชาวเชียงใหม่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ประกาศ) ซึ่งอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะผลกระทบด้านภาพลักษณ์ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวของพื้นที่จังหวัดนั้น

ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่