พิษ ‘ลานีญา’ รุกซีกโลกใต้ เผชิญไฟป่า-น้ำท่วมหนัก รุนแรงสุดในรอบ 100 ปี

“ซีกโลกใต้” กำลังเจอเข้ากับน้ำท่วมหนัก ไม่ใช่แค่ 7 จังหวัดภาคใต้บ้านเรา แต่รวมถึงมาเลเซียที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ต่อเนื่องมา 4 เดือนแล้ว โดยเฉพาะระหว่างเดือน ธ.ค. 2021 – ม.ค. 2022 ที่หนักจนเรียกได้ว่า “แรงที่สุดในรอบศตวรรษ” ตอนนี้ยังมีน้ำท่วมอีกครั้งในมาเลเซีย และยังลามไปถึงอินโดนีเซียทางใต้ รวมทั้งในออสเตรเลียที่กำลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นในขณะนี้ด้วย 

อุทกภัยเหล่านี้เป็นผลมาจากความถี่ของปรากฏการณ์ “ลานีญา” ที่ทำให้เกิดความชื้นสูง ฝนตกหนัก และตามด้วยน้ำท่วมใหญ่ จากเดิมที่เกิดขึ้นนานทีปีหนเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ตอนนี้เกิดขึ้นปีเว้นปีหรืออาจจะเรียกได้ว่าเกิดขึ้นทุกปีแล้ว และบ่อยขึ้นที่เราจะเจอกับน้ำท่วมที่  “แรงที่สุดในรอบศตวรรษ” เหมือนที่มาเลเซีย และ “แรงที่สุดในรอบสหัสวรรษ” เหมือนที่ออสเตรเลีย

ที่ออสเตรเลียเอาแค่เมืองบริสเบนในรัฐควีนส์แลนด์เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยมีฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ถึง 790 มิลลิเมตรในสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2022 เปรียบเทียบกับระดับน้ำฝนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษที่ว่าตกหนักและตกบ่อยแล้ว ยังมีสถิติแค่ 690 มิลลิเมตรต่อปีโดยเฉลี่ยรุนแรงมากจนนายกรัฐมนตรีรัฐควีนส์แลนด์บอกว่ามันคือ “ระเบิดฝน”

เครดิตภาพ Kingbob86 (Timothy) – https://www.flickr.com/photos/kingbob86/5341730273/

อุทกภัยยังเคลื่อนตัวลงใต้ไปสู่ตอนเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ จนทำให้เมืองลิสมอร์ประสบอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดหลังจากที่แม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็น 14.4 เมตร ในวันที่ 28 ก.พ. สูงกว่าสถิติครั้งก่อน 2 เมตรจากสถิติเมื่อปี 1954 นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อ ๆ กัน เพราะในเดือน มี.ค.ปีที่แล้วรัฐชายฝั่งตะวันออกก็เจอน้ำทวมหนักมาก นายกรัฐมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ในขณะนั้นบอกว่าเป็น “เหตุการณ์ 1 ใน 100 ปี”

ปรากฎว่ามันถี่เสียจนเรียกว่าเกิดขึ้นในรอบ 100 ปี หรือในรอบ 1,000 ปีไม่ได้แล้ว มันเป็นเรื่องปกติที่เกิดจากความไม่ปกติของสภาพภูมิอากาศโลก นักวิทยาศาสตร์ในออเสตรเลียชี้ว่า นี่คือผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เป็นตัวร้ายตัวเดียวกันกับที่ทำให้ออสเตรเลียร้อนจัดจนเจอไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดเมื่อปี 2020 และ 2021 และตัวเดียวกันนี้ยังทำให้ประเทศชื้นขึ้นผิดปกติด้วย

เครดิตภาพ AP.

เหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้สอดคล้องกับการคาดการณ์ในรายงานของรัฐบาลออสเตรเลียเมื่อ 14 ปีที่แล้ว โดยรายงานกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ “ภาวะแห้งแล้งถูกทำลายโดยเหตุการณ์ฝนตกหนัก” ในออสเตรเลียซึ่งหมายถึงไฟป่าและน้ำท่วมมากขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่การเกื้อหนุนกัน เช่น เมื่อเกิดไฟป่าแล้วจะตามมาด้วยฝนที่พอดี ๆ แต่มันเป็นการผนึกกำลังกันของหายนะไฟป่าร้ายแรงและน้ำท่วมที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน

รายงานนี้ออกมาแล้วหลายปี แต่ออสเตรเลียก็ยังไม่ลงมือแก้ไขมากพอที่จะกอบกู้สถานการณ์ จนเรื่องนี้กระทบชีวิตผู้คนหลายล้านในออสเตรเลีย มันทำให้ประชาชนเริ่มทนไม่ไหว โดยในจดหมายหลายฉบับที่เขียนส่งไปยัง The Sydney Morning Herald สื่อชั้นนำของออสเตรเลียพวกเขาเรียกร้องให้ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” จากไฟและน้ำควรเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด

ความเห็นหนึ่งบอกว่า “ตอนที่ชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียส่วนใหญ่ถูกไฟไหม้เมื่อสองฤดูร้อนที่แล้ว เราได้รับแจ้งว่าไม่ใช่เวลาที่จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชาชนตกอยู่ในอันตรายและสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง รัฐบาลกล่าวว่า เราก็ควรมามุ่งความสนใจไปที่สิ่งนั้นกันเถอะ ขณะนี้มีน้ำท่วมในพื้นที่เดียวกันบางส่วน มากกว่าที่เคยบันทึกไว้ตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานของยุโรป “ในออสเตรเลีย”

อีกความเห็นชี้ว่า “ถึงเวลาที่นักการเมืองทั้งระดับรัฐและรัฐบาลกลางต้องเผชิญกับความจริงข้อนี้และต้องรับผิดชอบบางอย่าง” อีกคนบอกว่า “การปฏิเสธที่จะดำเนินการกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้นภายในปี 2030 ตามที่ร้องขอโดยการประชุม COP ที่กลาสโกว์ คือการบอกกับผู้คนในเมืองลิสมอร์ บริสเบน และอีกหลายพันคนว่า เราไม่ใส่ใจคุณในอีก 30 ปีข้างหน้า”

อ้างอิง:

Alice Klein. (28 February 2022). “Record flooding in Australia driven by La Niña and climate change”. New Scientist.

“Fire and flood: Climate change emergency should be top priority” (March 2, 2022). The Sydney Morning Herald

 

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย