ที่ผ่านมาประชาชนผู้ไร้อำนาจต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมโดยที่ภาครัฐละเลยการตรวจสอบ และมักเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนด้วยข้ออ้างที่ว่าภาคอุตสาหกรรมคือผู้สร้างเศรษฐกิจ ผู้ร้องเรียนผลกระทบคือเสียงโวยวายที่เป็นตัวถ่วงความเจริญ
ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้โรงงานมีการปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษอากาศ น้ำเสีย การปนเปื้อนในดิน และสารพิษอันตรายอื่น ๆ ซึ่งปรากฎเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง โดยที่ผ่านมาไม่มีการตรากฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการรายงานระบบการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Pollutant Release and Transfer Registers (PRTR)
ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ เครือข่ายประชาชนจึงจะเข้ายื่นร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน ให้กับประธานสภาฯ อีกครั้ง จากที่ก่อนหน้านี้ถูกนายกฯ ปัดตกร่างกฎหมายดังกล่าว
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชน จะเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา (สัปปายะสภาสถาน)
เพื่อยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างพ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) โดยการรวบรวมรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภาต่อไป
PRTR คืออะไร ?
กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR) เป็นกฎหมายที่จะบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจนที่ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ
หัวใจสำคัญของ PRTR คือสิทธิของชุมชนการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยแนวคิดในการจัดทำ PRTR มีพัฒนาการมาจากหายนะภัยสารเคมีของโรงงานยูเนี่ยนคาร์ไบด์ที่เมืองโภปาล ประเทศอินเดีย และอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลในสหรัฐอเมริกา คนงานและชุมชนที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างเรียกร้องให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายที่สาธารณชนสามารถเข้าถึง
ในขณะนี้กว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้กฎหมาย PRTR เพื่อรักษาสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลและความปลอดภัยของประชาชน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สาเหตุการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ร่างกฎหมาย PRTR ของภาคประชาชนถูกปัดตกโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมันตรีโดยอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงินที่ไม่อาจยอมรับได้ ทำให้เกิดคำถามว่าการปฏิเสธกฎหมายดังกล่าวเป็นการปกป้องผลประโยชน์โรงงานอุตสาหกรรม แต่เมินผลกระทบมลพิษที่จะเกิดกับประชาชนหรือไม่
อ้างอิง:
เครดิตภาพ thaipbsworld