ฝรั่งเศสรีดภาษีเสื้อผ้า ‘ฟาสต์แฟชั่น’ ย้ำ ‘ผู้ก่อมลพิษ’ ต้องเป็นผู้จ่าย

ฝรั่งเศสเดินหน้าโหวตกฎหมายเรียกเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มเติมจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้า “ฟาสต์แฟชั่น” โดยเฉพาะแบรนด์ต่างชาติซึ่งจำหน่ายสินค้าในราคาถูก

ฝรั่งเศส ออสเตรีย ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) สนับสนุนมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมแนวโน้มการผลิตเสื้อผ้าราคาถูกแบบใช้แล้วทิ้ง หรือฟาสต์แฟชั่น โดยให้รัฐบาลสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีจากกิจการเหล่านี้เพิ่มเติม โดยอ้างว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มาของข้อเรียกร้องนี้มาจากการบริโภคเสื้อผ้าที่ใช้ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้งเพิ่มมากขึ้น โดยอ้างอิงข้อมูลประมาณการว่า จำนวนเสื้อผ้าเหล่านี้ขายได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านยูโรต่อปี ระหว่างปี 2000 ถึง 2015 สะท้อนให้เห็นถึงการสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมาก และอุตสาหกรรมแฟชั่นคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของสาเหตุการก่อมลพิษทางน้ำทั่วโลก และ 10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวม หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 ใน 4 ภายในปี 2050

ประเทศเหล่านี้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปคว้าโอกาสในการปฏิรูปกฎหมายเพื่อลดปริมาณขยะของอียู และต่อสู้กับอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และหันไปให้การสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทนและซ่อมแซมได้มากขึ้น โดยฝรั่งเศสและประเทศพันธมิตรที่ร่วมเรียกร้องชี้ให้เห็นว่า จากการวิจัยล่าสุดพบว่า เสื้อผ้าประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้นที่ถูกทิ้งเนื่องจากการสึกหรอ

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1,700 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี ซึ่งมากกว่าการปล่อยจากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกันที่ 2-3% นอกจากนั้น เสื้อผ้า 92 ล้านตัน หรือมากกว่า 1 แสนล้านชึ้นที่ถูกผลิตขึ้นทั่วโลกในทุกปีจะไปสิ้นสุดที่หลุมฝังกลบขยะ

เทเรซา มอร์เซน นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่นโยบายของ Zero Waste Europe ซึ่งมีฐานอยู่ที่บรัสเซลส์ กล่าวในแถลงการณ์ร่วมตอนหนึ่งว่า ผู้ผลิตสินค้าจากสิ่งทอโดยใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองจะต้องรับผิดชอบหรือผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรของรัฐสภาฝรั่งเศสเมื่อเดือน มี.ค. ที่๋่ผ่านมานี้จะเก็บภาษีคาร์บอนฟุตพรินต์สินค้าฟาสต์แฟชั่นทุกรายการจาก 5 ยูโรต่อหนึ่งรายการสินค้า (ประมาณ 194 บาท) เพิ่มขึ้นเป็น 10 ยูโร (ประมาณ 390 บาท) ภายในปี 2030 โดยในร่างกฎหมายยังห้ามผลิตภัณฑ์ทำการตลาดทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์ด้วย ซึ่งวุฒิสภาฝรั่งเศสมีกำหนดจะโหวตกันอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ (หากไม่มีการเลื่อนกำหนดออกไป)

สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ทางสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศส ได้มีมติเอกฉันท์ไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมุ่งลงโทษเสื้อผ้าจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น เนื่องจากเห็นว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะมลพิษที่ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ

ร่างกฎหมายฉบับนี้มุ่งเป้าการควบคุมไปยังแบรนด์ Shein บริษัทสัญชาติจีน-สิงคโปร์ ซึ่งมีการทำการตลาดเติบโตแบบก้าวกระโดดจากการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 45 ล้านรายต่อเดือน โดยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ประมาณ 7,200 รายการทุกวัน ผ่านช่องทางของแอปพลิเคชัน Temu ซึ่งเป็นช้อปปิ้งออนไลน์สัญชาติจีนที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีการจำหน่ายสินค้าประเภทของใช้ในบ้านในราคาถูกทุกชนิด

ในอีกแง่หนึ่งกฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า ฝรั่งเศสกำลัง “เลือกปฏิบัติ” เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมแฟชั่นในประเทศและชาติยุโรป โดยเฉพาะแบรนด์เนมเสื้อผ้าระดับไฮเอนด์หรือไม่ เช่น หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) ชาแนล (CHANEL) แอร์แมส (Hermes) หรือเสื้อผ้าราคาถูกอย่างซารา (Zara) และเอชแอนด์เอ็ม (H&M) ที่ถูกโจมตีจากสินค้าราคาถูกจากจีน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1,700 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี ซึ่งมากกว่าการปล่อยจากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกันที่ 2-3% นอกจากนั้น เสื้อผ้า 92 ล้านตัน หรือมากกว่า 1 แสนล้านชึ้นที่ถูกผลิตขึ้นทั่วโลกในทุกปีจะไปสิ้นสุดที่หลุมฝังกลบขยะ หรือรถขยะบรรทุกเสื้อผ้าเต็มคันขนไปทิ้งที่แหล่งฝังกลบทุกๆ วินาที

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น โดยคาดว่าจะพุ่งสูงถึง 134 ล้านตันต่อปีภายในสิ้นทศวรรษนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มของไทยจะมีการปล่อยคาร์บอนที่ 4-8% ของทั้งประเทศ

อ้างอิง:
https://www.euronews.com/green/2024/06/06/governments-call-for-crackdown-on-fast-fashion-ahead-of-key-vote
https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/FastFashion-CIS3503-KR-07-06-2024.aspx

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน