อุตุฯโลกเปิดสถิติย้อนหลัง 50 ปี อากาศสุดขั้วคร่าชีวิตแล้ว 2 ล้านคน

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้รวบรวมเหตุการณ์ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดจากสภาพอากาศสุดขั้ว โดยพบว่าในระเวลา 50 ปี เกิดภัยพิบัติกว่า 12,000 เหตุการณ์ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2 ล้านคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 4.3 ล้านล้านดอลลาร์

ระหว่างปี 2513 ถึง 2564 ความเสียหายจากภัยพิบัติที่ส่งผลทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่ารวม 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ 9 ใน 10 ของผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทั่วโลกอยู่ขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา

เพ็ทเธอรี ธาลาส เลขาธิการ WMO กล่าวว่า พายุไซโคลน Mocha  ที่พัดผ่านพม่าและบังกลาเทศในเดือนนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนที่เปราะบางที่สุด ต้องแบกรับผลกระทบจากสภาพอากาศ

จากการเก็บข้อมูลพบว่าเหตุการณ์จากพายุหมุนเขตร้อนเป็นสาเหตุหลักของรายงานความสูญเสียของมนุษย์และเศรษฐกิจ ซึ่งพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายมากสุดถึง 21,000 ล้านดอลลาร์คือ พายุหมุนเขตร้อน Idai ที่เกิดในแอฟริกาปี 2562

จากสถิติพบว่าภัยพิบัติเกือบ 1,500 ครั้งเกิดขึ้นทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 66,951 ราย และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 185.8 พันล้านดอลลาร์

ในขณะที่เอเชียเผชิญกับภัยพิบัติกว่า 3,600 ครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไป 984,263 ราย และสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบของพายุไซโคลน

อเมริกาใต้เกิดภัยพิบัติ 943 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 58,484 ราย และความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 1.15 แสนล้านดอลลาร์

ภัยพิบัติกว่า 2,100 ครั้งในอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 77,454 ราย และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 2 ล้านล้านดอลลาร์

ยุโรปเผชิญกับภัยพิบัติเกือบ 1,800 ครั้ง ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต 166,492 ราย และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 562 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม WMO คาดการณ์ว่าภัยพิบัติจะมากและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากในอีก 5 ปีข้างหน้ามีโอกาสเป็นไปได้กว่า 66% ที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นจนเกินขีดจำกัดที่ 1.5 องศา เกินเกณฑ์สำคัญที่กำหนดไว้ตามข้อตกลงปารีส

ที่มา

  • May 22, 2023. Extreme weather has killed 2 million people over past half century, U.N. says. NBC News
  • May 22, 2023. Deadly skies: Extreme weather has killed 2 million people since 1970, UN report says. USA Today

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย