ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนกำลังตกเป็นเป้าการโจมตีของคลื่นความร้อนอย่างรุนแรง บางพื้นที่กำลังสำลักมลพิษอากาศจากฝุ่น PM2.5 อยู่แล้ว ทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่เดิมยิ่งมีอันตรายมากขึ้นถึงชีวิต
อุณหภูมิที่สูงขึ้นมากในประเทศอาเซียนที่เกิน 40 องศาเซลเซียส (°C) โดยเฉพาะในเวียดนาม ลาว และไทย พบว่าจะทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงจากคลื่นความร้อนจัดต่อการเสียชีวิตประมาณ 6% และบางพื้นที่เมื่อต้องเผชิญมลพิษอากาศจากฝุ่น PM2.5 หรือมลพิษทางอากาศประเภทอื่นๆ เข้าไปด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอีกประมาณ 5% เมื่อทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น 21%
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วใน American Journal of Respiratory and Critical Care Medicine นักวิจัยพบว่า อากาศที่ร้อนจัดและคุณภาพอากาศที่แย่จะทำให้มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และไตเพิ่มมากขึ้น
Rajesh Kumar นักวิทยาศาสตร์โครงการของศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติในโคโลราโด กล่าวว่า ความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว และมลพิษทางอากาศจะเพิ่มการอักเสบในปอดและทั่วร่างกาย ดังนั้นสิ่งนี้จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง ซึ่งปัญหาด้านสุขภาพจากสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก แต่ในขณะนี้ความเสี่ยงเริ่มรุนแรงเป็นพิเศษทั่วเอเชีย รวมทั้งยังพบมลพิษโอโซนสูงสุดที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมในขณะนี้พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังจะทำให้การศึกษาเด็กๆ ต้องชะงักลง และคุกคามการเรียนรู้ระหว่างเด็ก ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้วในวงกว้างมากขึ้น จนทำให้บางประเทศต้องปิดโรงเรียนจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด เช่น ฟิลิปปินส์ต้องปิดโรงเรียนนับพันแห่ง โรงเรียนในกัมพูชาต้องลดเวลาเรียนลง 2 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในช่วงเที่ยงวัน ขณะที่ในบังกลาเทศก็ต้องสั่งปิดโรงเรียนทั้งหมด 2 ครั้งในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
องค์การสหประชาชาติรายงานว่า มีเด็กประมาณ 243 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ร้อนขึ้นและยาวนานขึ้น ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากความร้อนมากขึ้น และถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่จะเจ็บป่วยจากความร้อน เกิดภาวะระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศส่วนใหญ่สรุปตรงกันว่า เหตุการณ์สภาพอากาศที่เลวร้ายนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะเกิดน้ำท่วม พายุที่รุนแรง และพายุไซโคลนเกิดขึ้นบ่อยขึ้นและเป็นอันตรายมากขึ้น โดยคนจนจะต้องทนทุกข์ทรมานและได้รับผลกระทบมากที่สุด
อ้างอิง:
1) https://www.nbcnews.com/science/environment/deadly-combo-extreme-heat-air-pollution-grips-parts-southeast-asia-rcna83419
2) https://www.nbcnews.com/news/world/schools-close-extreme-heat-philippines-bangladesh-asia-rcna149485
3) https://www.cbsnews.com/news/heat-wave-asia-2024-deaths-india-severe-weather-climate-change/