‘ยูนีซ นิวตัน ฟุท’ ผู้หญิงคนแรก ค้นพบภาวะโลกร้อนเมื่อ 166 ปีก่อน

ยูนีซ นิวตัน ฟุท ได้นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมด้านวิทยาศาสตร์ American Association for the Advancement of Science (AAAS) ในปี พ.ศ. 2399 โดยได้ตั้งทฤษฎีว่า การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไป เท่ากับเป็นการค้นพบภาวะเรือนกระจก และภาวะโลกร้อนครั้งแรกอย่างที่เรากำลังประสบอยู่ในตอนนี้นั่นเอง

ภาพ: Eunice Newton Foote in una foto d’epoca (screenshot Instagram)

ยูนีซ นิวตัน ฟุท (Eunice Newton Foote) เกิดเมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2362 เสียชีวิตเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2431 เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ และนักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีชาวอเมริกัน และเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกเท่าที่ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบของความร้อนจากแสงแดดต่อก๊าซต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความร้อนของรังสีของดวงอาทิตย์

สิ่งที่เธอค้นพบนั้นยิ่งใหญ่มาก มันถูกบรรยายในบทความชื่อ Circumstances affecting the Heat of the Sun’s Rays (สถานการณ์ที่ส่งผลต่อความร้อนของรังสีดวงอาทิตย์) ซึ่งฟุทตั้งทฤษฎีว่า “บรรยากาศของก๊าซ (คาร์บอนไดออกไซด์) นั้นจะทำให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้น และถ้าเป็นอย่างที่บางคนคิด ในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ อากาศจะผสมกับสัดส่วน (ของก๊าซ) ที่มากกว่าในปัจจุบัน จะเกิดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากสิ่งนี้”

รายงานการค้นพบของฟุทได้รับการยอมรับในการประชุม AAAS ประจำปีครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2399 ในเมืองออลบานีรัฐนิวยอร์ก แต่ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน ฟุทไม่ได้นำเสนอบทความของเธอให้นักวิทยาศาสตร์ของสมาคม (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) ได้ฟัง

ปรากฏว่าจอห์น เฮนรี แห่งสถาบันสมิธโซเนียนนำเสนอผลงานของเธอแทน โดยกล่าวว่า “วิทยาศาสตร์ไม่มีประเทศและไม่มีเพศ อาณาเขตของผู้หญิงไม่ได้มีแค่เรื่องสวยงามและการทำประโยชน์อื่น ๆ แต่ยังมีเรื่องของความจริง (ทางวิทยาศาสตร์) ด้วย”

นอกจากเธอจะไม่ได้นำเสนอบทความด้วยตนเองแล้ว คนที่ได้เครดิตการค้นพบภาวะโลกร้อนไปยังเป็นคนอื่น คือนักวิทยาศาสตร์ชายชาวไอริชที่ชื่อ จอห์น ทินดอลล์ (John Tyndall ) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงวิทยาศาสตร์ในด้านการวิจัยผลงานด้านแม่เหล็กและขั้วไฟฟ้า

เป็นเวลา 5 ปีหลังจากที่ฟุทเสนอบทความของเธอ ในปี พ.ศ. 2404 จอห์น ทินดอลล์ก็ได้สาธิตลักษณะการดูดซับของก๊าซ รวมทั้งออกซิเจน ไอน้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการใช้สเปกโตรโฟโตมิเตอร์แบบอัตราส่วนของการออกแบบของเขาเอง เขาวัดการดูดกลืนแสงอินฟราเรดของก๊าซเหล่านี้ในสิ่งที่จะเรียกว่า ‘ปรากฏการณ์เรือนกระจก’ (Greenhouse effect) ในภายหลัง

เพราะทินดอลล์มีชื่อเสียงมากในวงการวิทยาศาสตร์ เขาจึงสามารถเสาะหาอุปกรณ์เพื่อทำการทดลองที่ก้าวหน้าได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะสิ่งที่เขาค้นพบนั้นคล้ายคลึงกับสิ่งที่ฟุทค้นพบ จนถึงทุกวันนี้นักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันว่าทินดอลล์ผ่านตาบทความการค้นพบของฟุทหรือไม่ แต่บางคนเชื่อเขาเป็นคนที่ชอบแสวงหาความรู้ มีโอกาสสูงที่เขาจะได้เห็นการค้นพบของฟุท

ที่สำคัญก็คือ ทินดอลล์ยังเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Philosophical Magazine อีกด้วย นิตยสารฉบับนี้พิมพ์ซ้ำบทความโดยสามีของฟุทซึ่งอยู่ติดกับบทความของฟุทแบบเป๊ะ ๆ ในวารสาร American Journal of Science and Arts แสดงว่ามีโอกาสสูงที่ทินดอลล์จะเห็นการค้นพบของฟุท และมีรายงานว่าสมาชิกบางคนในนิตยสาร Philosophical Magazine เห็นผลงานของฟุทแต่เลือกที่จะไม่ตีพิมพ์

แต่นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อมั่นว่า ทินดอลล์ไม่ได้เห็นผลงานของฟุท แต่ทำการทดลองในแบบของเขาเอง และได้ผลในแบบของเขาเอง พร้อมกับอ้างบุคคลิกของทินดอลล์ที่เป็นคนเคร่งครัดในคุณธรรม และมักช่วยเหลือคนด้อยโอกาส จึงยากที่เขาจะทำตัวแบบขโมยผลงานคนอื่นแล้วมาใส่เครดิตตัวเอง

ไม่ว่าจะเคยเห็นหรือไม่เคยเห็นก็ตาม ทินดอลล์ได้รับเครดิตว่า เป็นผู้ค้นพบภาวะโลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจกคนแรกของโลก ในขณะที่ฟุทถูกลืมเลือนไป และคนส่วนใหญ่จดจำเธอได้ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีคนสำคัญ โดยร่วมลงนามในคำประกาศสิทธิสตรี Declaration of Sentiments ในปี พ.ศ. 2391 เพื่อเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกันกับผู้ชาย

จนกระทั่งในปี 2553 นักธรณีวิทยาปิโตรเลียมที่เกษียณอายุแล้วชื่อ เรย์ ซอเรนสัน (Ray Sorenson) ได้พบเห็นงานของฟุทในหนังสือ The Annual of Scientific Discovery เขาพบว่า ฟุทเป็นคนแรกที่เสนอความเชื่อมโยงระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และงานของเธอไม่เป็นที่รู้จัก ต่อมาในเดือนมกราคม 2554 โซเรนสันได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยของฟุทให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง

ในปี 2561 ในภาพยนต์เรื่อง Eunice เกี่ยวกับชีวประวัติของฟุทออกเผยแพร่ และปี 2562 มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บาราได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อเป็นเกียรติแก่งาน และมรดกของฟุท โดยระบุว่า เธอได้ค้นพบว่า “คาร์บอนไดออกไซด์มีความสามารถพิเศษในการดูดซับ และแผ่ความร้อนจากแสงอาทิตย์กลับสู่โลก”

ข้อมูลจาก
• Nichola Daunton. (01/01/2022) “This woman discovered climate change 5 years before the man who gets credit for it”. Euro News.
• Maura Shapiro. (23/08/2021). “Eunice Newton Foote’s nearly forgotten discovery”. Physics today.
• Wikipedia contributors. “Eunice Newton Foote.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 30 Dec. 2021. Web. 3 Jan. 2022.

ภาพ: Eunice Newton Foote in una foto d’epoca (screenshot Instagram)

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่