EU เตรียมออกกฎหมายใหม่ไม่อนุญาตนำเข้าสินค้ากาแฟ เนื้อวัว ถั่วเหลือง และอื่นๆหากพบเชื่อมโยงตัดไม้ทำลายป่า

สหภาพยุโรป หรือ EU เตรียมออกกฎหมายใหม่ไม่อนุญาตให้บริษัทกาแฟ เนื้อวัว ถั่วเหลือง และสินค้าอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกนำเข้าสินค้าในตลาดสหภาพยุโรป หากฝ่าฝืนเจอปรับ

กฎหมายใหม่นี้จะกำหนดให้บริษัทต่างๆ จัดทำรายงานการตรวจสอบสถานะที่แสดงว่าห่วงโซ่อุปทานของตัวเองว่าไม่ได้มีส่วนในการทำลายป่าก่อนที่จะขายสินค้าไปยังสหภาพยุโรป หากไม่ปฏิบัติตามอาจส่งผลให้มีค่าปรับสูงถึง 4% ของผลประกอบการของบริษัทในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

โดยบริษัทต่างๆ ต้องระบุได้ว่าสินค้านั้นผลิตขึ้นเมื่อไหร่ และที่ไหน รวมถึงแสดงข้อมูลที่ ‘ตรวจสอบ’ ได้ว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้ปลูกบนพื้นที่ที่มีการตัดไม้ลายป่าหลังปี 2020 

สินค้าที่เริ่มบังคับใช้ได้แก่ ถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้และกาแฟ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น เครื่องหนัง ช็อกโกแลต เฟอร์นิเจอร์ ยาง ถ่าน และอนุพันธ์ของน้ำมันปาล์มบางส่วน

“ผมหวังว่ากฎระเบียบที่เป็นนวัตกรรมนี้จะเป็นแรงผลักดันในการปกป้องผืนป่าทั่วโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่นๆ ในการประชุม COP15” คริสตอฟ แฮนเซน หัวหน้าคณะเจรจาของรัฐสภายุโรปกล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

การตัดไม้ทำลายป่าเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 10% ของโลกที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะเป็นจุดสนใจในการประชุม COP15 ในสัปดาห์นี้ ซึ่งประเทศต่างๆ จะแสวงหาข้อตกลงระดับโลกเพื่อปกป้องธรรมชาติ

ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่ เช่น บราซิล อินโดนีเซีย และโคลอมเบีย ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นภาระที่หนัก ค่าใช้จ่ายสูง และการรับรองยังตรวจสอบได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศต่างๆ

กระทรวงต่างประเทศของบราซิลแถลงว่ามีความกังวลว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมนี้อาจถูกใช้เป็นข้ออ้างในการบังคับใช้ข้อจำกัดทางการค้าที่เลือกปฏิบัติแต่ฝ่ายเดียว อย่างไนก็ตามกระทรวงกล่าวว่ากำลังรอการเผยแพร่ข้อความทั้งหมดของกฎหมายเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม

ที่มา : December 7, 2022, “EU agrees law preventing import of goods linked to deforestation.” Reuters

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่