อุณหภูมิทะเลไทยแตะ 38 องศาระอุเทียบ ‘ออนเซ็น’ ฮอกไกโด

หายนะของท้องทะเลไทยเมื่ออุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียส! การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 40,000 ล้านตันต่อปี เป็นปัจจัยทำให้อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงเกิน 1.5 องศาฯ ถ้าไม่หยุดทำร้ายโลกตั้งแต่วันนี้ ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต เช่น เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น บ่อยขึ้น สัตว์บกสัตว์น้ำตาย เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ผู้คนแย่งชิงทรัพยากร และเกิดความโกลาหลที่คาดเดาไม่ได้ไปทั่วโลก โดยที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานจะต้องเป็นผู้แบกรับ

ลึกลงไปใต้ท้องทะเล คลื่นน้ำกำลังเคลื่อนไหวแทรกผ่านร่างช่างภาพหนุ่ม ซึ่งกำลังตั้งใจจดจ่ออยู่กับการลั่นปุ่มชัตเตอร์ของกล้องในมือในจังหวะที่ดีที่สุด เพื่อให้ได้ภาพถ่ายใต้ทะเลที่สะท้อนเรื่องราวของปัญหา ‘ปะการังฟอกขาว’ ซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อนออกมาให้ได้ชัดเจน และครบถ้วนที่สุด

ชิน – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทำงานด้านนี้มานานกว่า 14 ปี ทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์ ‘ท้องทะเลไทย’ ที่สามารถบอกเล่าเรื่องปัญหาสภาวะโลกร้อนใต้ทะเลอย่างตรงไปตรงมา และเชื่อถือได้ที่สุดคนหนึ่ง

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีด้านสิ่งแวดล้อม

ชินเล่าว่า เขาผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่เด็ก ที่บ้านจะมีหนังสือเกี่ยวกับทะเลเยอะ จึงโตมากับภาพทะเลจากหนังสือเหล่านั้น อีกทั้งครอบครัวชอบพาเขาไปเที่ยวทะเลบ่อย ๆ ยิ่งได้ลองดำน้ำชมโลกใต้น้ำ เห็นความตระการตาของโลกอีกใบ ก็ยิ่งทำให้หนุ่มคนนี้หลงรักทะเลไทยมากขึ้นไปอีก และกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเขาจนถึงทุกวันนี้

แต่ทะเลที่เขาเคยชื่นชมความงามในวัยเด็ก กลับแตกต่างจากทะเลในวันที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปในปี 2553 เหตุการณ์ที่รบกวนจิตใจคนรักทะเลอย่างเขา คงหนีไม่พ้นปัญหาปะการังฟอกขาวในครั้งนั้น

“มันเป็นเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบต่อทะเลแถบเอเชียแปซิฟิกหนักมาก เนื่องจากปะการังเป็นสัตว์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยสาหร่ายชนิดหนึ่ง โดยสาหร่ายจะให้พลังงาน และสร้างสีสันต่าง ๆ ให้ปะการัง ส่วนปะการังก็ให้แร่ธาตุที่จำเป็นแก่สาหร่าย แต่ช่วงนั้นอากาศร้อนติดต่อกันนานมาก พออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นก็ทำให้สาหร่ายอยู่ไม่ได้ และหลุดออกมาจากตัวปะการังเพื่อหาที่อยู่อื่น ทำให้ปะการังกลายเป็นสีขาวและตายไปในที่สุด” ชินเล่าสะท้อนภาพที่เขาเห็นมากับตาให้เราฟัง

ภาพ: ปะการังฟอกขาว – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

คาร์บอนไดออกไซด์เร่ง “ภาวะโลกร้อน” ที่กำลังทำลายโลกใต้ทะเล

แน่นอนว่า เหตุการณ์นี้มีผู้ร้ายที่ต้องโทษก็คือ “ภาวะโลกร้อน” หลายคนอาจคิดว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบแค่สิ่งแวดล้อมบนบกเท่านั้น แต่รู้หรือไม่? ผลจากภาวะโลกร้อนก็ส่งต่อความโหดร้ายไปยังโลกใต้ทะเลด้วย และสิ่งที่ถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนก็คือ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกี่ยวข้องกับปัญหาโลกร้อนโดยตรง แต่ทำไมมันถึงทำให้โลกของเราร้อนขึ้นได้ล่ะ? แล้วก๊าซเหล่านี้มาจากไหน? เรื่องนี้ช่างภาพใต้น้ำผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับประเด็น Climate Change มายาวนาน อธิบายว่า
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยมาจากการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในทุก ๆ กิจกรรม คุณสมบัติของมันคือเป็นก๊าซที่ดูดซับความร้อนได้เยอะมาก เมื่อก๊าซชนิดนี้ไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศก็ทำให้ความร้อนถูกดึงไปสะสมไว้บนชั้นบรรยากาศด้วย จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างที่เราประสบพบเจอกันอยู่ทุกวันนี้

“ตอนนี้ก๊าซคาร์บอนฯ สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศปริมาณมหาศาลมาก และมันใกล้จะถึงจุดที่ระบบต่าง ๆ บนโลกจะรับความร้อนนั้นต่อไปไม่ไหวแล้ว อุณหภูมิโลกจะยิ่งทวีความร้อนมากขึ้นไปกว่านี้อีก ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบต่อโลกบนบก แต่ยังส่งผลกระทบต่อโลกใต้น้ำด้วย ไม่ว่าจะเป็นการไหลเวียนกระแสน้ำในมหาสมุทรที่ผิดเพี้ยนแปรปรวนอย่างมาก จนกระทบต่อระบบนิเวศใต้ทะเล รวมไปถึงภาวะที่น้ำทะเลกลายสภาพเป็นกรด เนื่องจากดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศ เมื่อน้ำทะเลเป็นกรดก็จะกัดกร่อนปะการัง และทำให้สัตว์เปลือกแข็งต่าง ๆ ไม่สามารถสร้างกระดองของพวกมันได้ อัตราการตายของสัตว์ทะเลจะเพิ่มขึ้น” เขาย้ำให้เห็นถึงความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อโลกใต้ทะเล

ปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นแล้ว และอาจหยุดไม่ได้!

เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ ที่จะมัวรอช้าโดยไม่ทำอะไรได้อีกแล้ว ยืนยันอีกเสียงจากนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชั้นแนวหน้าของไทย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  ให้ข้อมูลว่า นักวิทยาศาสตร์มีข้อบ่งชี้หลายอย่างที่ระบุว่า ทะเลของโลกเรา (ไม่ใช่เฉพาะในไทย) จะทรุดโทรมลงกลายเป็นทะเลที่โศกเศร้า จนถึงขณะนี้บางคน ก็ยังไม่ตระหนักว่าการขาดความรับผิดชอบเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น เมื่อรวมกันทั้งโลกมันกลายเป็นผลกระทบที่ยิ่งใหญ่

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล

“คนเราไม่ได้เริ่มปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้เมื่อ 5 ปีก่อน แต่เริ่มปล่อยกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1850
(พ.ศ. 2393) ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เราพูดถึงมันในแง่ของวิวัฒนาการที่ก้าวหน้า เพิ่มความสะดวกสบายให้มนุษย์ จริงอยู่ว่า วิทยาการเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมองให้ครบสองด้าน เพราะอีกด้านหนึ่งวิทยาการเหล่านี้คือตัวการผลิตก๊าซเรือนกระจก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน

“เชื่อหรือไม่ ณ วันนี้โลกของเราปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ปริมาณมากถึง 40 กิกะตัน หรือ 40,000 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้วันนี้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 1.1 – 1.2 องศาเซียลเซียส เมื่อเทียบกับเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และกำลังจะสูงขึ้นอีก 1.5 องศา (เซลเซียส) อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

แม้ว่าวันนี้คนทั้งโลกจะช่วยกันหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 40,000 ล้านตัน ก็แก้ไขปัญหาโลกร้อนไม่ทันแล้วเพราะมันเกิดขึ้นแล้ว! และจะหนักหนาขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต เช่น การเกิดภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้นบ่อยขึ้นสัตว์บกสัตว์น้ำตาย ภาวะขาดแคลนอาหาร ผู้คนแย่งชิงทรัพยากร และเกิดความโกลาหลที่คาดเดาไม่ได้ไปทั่วโลก

ดร.ธรณ์บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ในเวลาอีก 30 ปีข้างหน้า ปัญหาภาวะโลกร้อนจะหนักหนากว่านี้ และคงจะไม่ถึงขั้นที่วิกฤตพิสดาร แต่ถ้าโลกร้อนกินเวลานานกว่า 30 ปีข้างหน้าขึ้นไป คนที่จะโดนผลกระทบไม่ใช่คนรุ่นนี้ แต่คือคนที่กำลังเรียนจบปีนี้หรือเด็ก ๆ ที่อายุน้อยลงไปกว่านั้นที่จะเดือดร้อน พวกเขาและพวกเธอจะอยู่ในโลกที่ปู่ย่าตายายไม่เคยเล่าให้ฟัง

เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้น สัตว์น้ำไม่รอด คนก็ไม่รอด

เมื่อโลกร้อนขึ้นแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อเรายังไงบ้าง? ดร.ธรณ์ให้คำตอบทันทีว่า มนุษย์ทั่วโลกจะเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมฉับพลัน ภัยแล้ง คลื่นความร้อนสูงฉับพลัน จนเกิดการสูญเสียชีวิตของคนมากมาย ยกตัวอย่างในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา (บางรัฐ) พบอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติถึง 10 องศาเซลเซียสในเวลาสั้น ๆ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงปัญหา Marine Heat Wave หรือ คลื่นความร้อนในทะเล ซึ่งมันมาพร้อมกับภาวะโลกร้อน อย่าคิดว่าโลกร้อนจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นบนผิวโลกอย่างเดียว เพราะในทะเลก็จะเกิดภาวะน้ำทะเลร้อนขึ้นเช่นกัน ทำให้เกิดความแปรปรวนขั้นสูง และสร้างความเสียหายมหาศาล หากมองภาพความเสียหายในทะเลไทยฝั่งอ่าวไทย พบว่าปีนี้ทะเลไทยฝั่งอ่าวไทยเกิดปะการังฟอกขาวในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกในจังหวัดระยองตรงนั้นมีปะการังนับแสน ๆ ก้อน ตายหมดภายในเวลา 2-3 อาทิตย์

“ผมได้มีโอกาสไปตรวจวัดอุณหภูมิน้ำทะเลทางฝั่งระยอง พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลในแนวปะการังแถวนั้นสูงผิดปกติอยู่ที่ 38 องศา (เซลเซียส) ผมวัดมาเองกับมือ มีข้อมูลอยู่ให้เห็นชัดเจน เทียบเท่าความร้อนของออนเซ็นที่ฮอกไกโดขณะที่ลูกศิษย์ผมก็เคยรายงานว่า บางจุดพบหญ้าทะเลตายเนื่องจากน้ำทะเลร้อนเกินไป ขนาดหญ้าทะเล และปะการังยังอยู่ไม่ได้ สัตว์น้ำต่าง ๆ ก็คงจะไม่รอด”

สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในแง่อื่น ๆ ตามมาอีกเป็นหางว่าว ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงท้องถิ่นเข้าจอดเรือตามอ่าวไม่ได้อีกต่อไป เพราะเมื่อปะการังตายจำนวนมาก ก็ไม่มีแนวกันคลื่นตามธรรมชาติ หรือกลุ่มประมงเลี้ยงหอย ปรากฏว่าลงทุนเลี้ยงไปเท่าไรหอยก็ตายหมด เพราะน้ำทะเลร้อนขึ้น ก็เกิดการขาดทุน ทำมาหากินไม่ได้ เป็นต้น

หนทางชะลอความร้อนให้โลก ยังเป็นไปได้ไหม?

ต้องยอมรับกันอย่างจริงจังแล้วว่า ปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบต่อทะเลและวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกอย่างมหาศาลแม้เป็นคนเมืองที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนติดทะเลก็ย่อมได้รับผลกระทบทางอ้อมของภาวะโลกร้อน และ น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นตามไปด้วย แต่วันนี้มนุษย์ยังช่วยชะลอไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงไปกว่านี้ได้ ด้วยการ “ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”ทั้งในระดับปัจเจก ครัวเรือน ไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม

ชินสะท้อนความคิดเห็นว่า หากมนุษย์เราช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ แม้ไม่อาจทำให้ภาวะโลกร้อนหยุดไปในทันที แต่อย่างน้อยก็จะช่วยชะลอไม่ให้อุณหภูมิของโลกเราสูงไปกว่านี้และเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องทำตอนนี้และเดี๋ยวนี้ เพราะเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้เราอยู่รอดต่อไป

วิธีง่ายที่สุดที่คนทั่วไปสามารถช่วยลดอุณหภูมิให้ทั้งผิวโลกและท้องทะเลได้ ก็คือ การลด Carbon Footprint (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ) ของทุกคนให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ ช่วยกันลดผลกระทบที่ทำให้โลกร้อนขึ้น หรือเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็จะส่งผลให้ปัญหานี้คลี่คลายมากขึ้น

อาจเริ่มง่าย ๆ จากตัวเอง เพิ่มเติมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรอบตัว ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง และเริ่มลด ละ เลี่ยง กิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งชินยอมรับว่า ผู้คนสมัยนี้หันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้กันมากขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น สมัยนี้มักจะมีผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา เพื่อช่วยลดความร้อน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้

หนึ่งในนั้นคือ อิงค์เจ็ทพรินเตอร์รุ่นใหม่ของเอปสัน ที่ไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์ (Heat-Free Technology) และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 85% รวมไปถึงชิ้นส่วนในตัวพรินเตอร์เองก็ยังมีส่วนประกอบที่ต้องเปลี่ยนทดแทนน้อยกว่าเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 59% ทำให้ลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงได้

“อุตสาหกรรมการพิมพ์มันมีสเกลที่ใหญ่มาก แทบจะทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ล้วนต้องใช้งานพรินเตอร์ในสำนักงาน ผมมองว่า เอปสันเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้พรินเตอร์ไม่ต้องใช้ความร้อนในการพิมพ์ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้ถึง 85% ถือเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์ไอทีให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจอื่น ๆ ในวงการเดียวกันหันมาใส่ใจในเรื่องการอนุรักษ์มากขึ้นด้วย หากทุกธุรกิจปรับเปลี่ยนจุดนี้ไปด้วยกันจะทำให้ภาพของอุตสาหกรรมการพิมพ์เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีต่อโลกใบนี้มากขึ้นแน่นอน”

ด้าน ดร.ธรณ์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 40 ที่แล้ว การที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นแนวอนุรักษ์มันอาจจะลำบากและขัดต่อวิถีชีวิตอย่างมาก แต่สมัยนี้ไม่ใช่ เพราะมีการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่เอื้อให้คนรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นเทรนด์สุดคูลของคนรุ่นใหม่ เช่น เลือกใส่รองเท้าที่ทำจากขยะพลาสติก เลือกใส่เสื้อยืดที่รีไซเคิลจากขวดน้ำ หรือการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ทำให้คำว่า “รักษ์โลก” ได้ฝังอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนสมัยนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวงการแฟชั่น วงการดาราศิลปิน หรือแม้กระทั่งวงการธุรกิจ องค์กรใหญ่ ๆ ทั่วโลกก็มีการพูดถึงการลดคาร์บอนฯ ภายในองค์กร มีความพยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาทำให้องค์กรของเขาสามารถรับผิดชอบต่อโลกได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น องค์กรธุรกิจในทุกวันนี้จะไม่พูดถึงเฉพาะผลกำไรอีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องเป็นธุรกิจที่ได้ผลกำไรควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นั่นคือสิ่งที่ท้าทายองค์กรธุรกิจไปอีกขั้นหนึ่ง

ยกตัวอย่าง เอปสัน ผู้นำด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ ล่าสุดทราบมาว่า บริษัทฯ ได้พัฒนาพรินเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีหัวพิมพ์ที่เรียกว่า Heat-Free Technology พิมพ์ได้โดยไม่ต้องใช้ความร้อน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้จำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่า จะมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง นี่คือการแสดงถึงความใส่ใจสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ต้นทางการผลิตในโรงงาน ที่จะรวมถึงทุก ๆ ขั้นตอนการผลิตที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนฯ ด้วย ตามนโยบายของสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งต้องการให้เอปสันเป็นแบรนด์ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ที่สำคัญเมื่อมีผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกแบบนี้ออกมาให้คนทั่วไปได้ใช้งาน ย่อมทำให้คนทั่วไปในสังคมได้มีส่วนร่วมที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และช่วยกันลดภาวะโลกร้อนไปพร้อม ๆ กันได้ ทุกภาคส่วน

“ผมสนับสนุนเสมอนะ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจใดที่พยายามลงทุนในการหาเทคโนโลยีในการก้าวล้ำไปในเรื่องของความรับผิดชอบต่อโลก เรื่องโลกร้อน บางทีมันเป็นเรื่องของความใส่ใจ ความกระตือรือร้นที่อยากจะมีส่วนร่วมในการลดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตรงนี้ ดังนั้นบอกได้ว่า เอปสันมีความใส่ใจในการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมทำให้โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ได้พูดคุยกับเอปสันแล้วผมมีความสุข” ดร.ธรณ์ พูดทิ้งท้าย

อิงค์เจ็ทพรินเตอร์รุ่นใหม่ของเอปสัน ที่ไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน