“เอสโตเนีย” อันดับหนึ่งประเทศเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2024 เวียดนามติดอันดับท้ายสุด เนื่องจากพึ่งพาพลังงานถ่านหินมากขึ้น ไทยรั้งที่ 90
มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) จัดทำสำรวจดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index : EPI) 180 ประเทศ เพื่อจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปี 2024 โดย 10 อันดับแรก หรือ Top 10 ประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก ประกอบด้วย 1. เอสโตเนีย 75.3 คะแนน 2. ลักเซมเบิร์ก 75.0 คะแนน 3. เยอรมนี 74.6 คะแนน 4. ฟินแลนด์ 73.7 คะแนน 5. สหราชอาณาจักร 72.7 คะแนน 6. สวีเดน 70.5 คะแนน 7. นอร์เวย์ 70.0 คะแนน 8. ออสเตรีย 69.0 คะแนน 9. สวิตเซอร์แลนด์ 68.0 คะแนน และ 10. เดนมาร์ก 67.9 คะแนน
ขณะที่ 10 ประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 180. เวียดนาม 24.5 คะแนน 179. ปากีสถาน 25.5 คะแนน 178. ลาว 26.1 คะแนน 177. เมียนมา 26.9 คะแนน 176. อินเดีย 27.6 คะแนน 175. บังกลาเทศ 27.8 คะแนน 174. เอริเทรีย 28.6 คะแนน 173. มาดากัสการ์ 29.9 คะแนนอ172. อิรัก 30.4 คะแนน และสุดท้าย 171. อัฟกานิสถาน 30.7 คะแนน สำหรับ ประเทศไทย ติดอันดับที่ 90 ได้ 45.4 คะแนน
การสำรวจครั้งนี้พบว่า เอสโตเนียที่ได้คะแนนดัชนี EPI อันดับ 1 ของโลก ก้าวจากประเทศผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากสุดเป็นอันดับ 2 ในสหภาพยุโรป โดยปีนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลดลง 40% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเปลี่ยนจากเผาไหม้หินน้ำมันหรือน้ำมันที่เกิดจากการทับถมของซากพืช-ซากสัตว์อยู่ใต้ชั้นหินดินดานเพื่อผลิตไฟฟ้าจาก 90% มาเป็นพลังงานสะอาด และได้ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับเมืองใหญ่ภายในปี 2040
ทั้งนี้ เอสโตเนียถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจคาร์บอนเข้มข้นมากที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD จนทำให้ชาวเอสโตเนียนมีปัญหาสุขภาพ เช่น ป่วยจากโรคทางเดินหายใจและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จึงได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศให้ได้ 100% เพื่อลดการเสียชีวิตของประชากร ภายในปี 2030
ขณะที่เวียดนามรั้งอันดับท้ายสุดของโลก เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้การปล่อยมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพถูกคุกคาม ตามมาด้วยประเทศกำลังพัฒนาอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ลาว ติดอันดับ 178 เมียนมา อันดับ 177 และเอเชียใต้ เช่น ปากีสถาน และบังกลาเทศ ก็อยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุดไล่เลี่ยกัน
ด้านญี่ปุ่น ติดอันดับ 27 เป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียที่มีนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการส่งเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อม และเป็นประเทศที่มีอัตราการสูญเสียภูมิทัศน์ป่าไม้ที่สมบูรณ์ต่ำที่สุดในโลก ทั้งยังได้รับคะแนนสูงสุดในด้านการจัดการของเสียและโลหะหนัก และมีคุณภาพอากาศดีที่สุดในภูมิภาค รองจากบรูไนและประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก
ทั้งนี้ การสำรวจดัชนี EPI จัดขึ้นทุกปี โดยปีนี้ใช้ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ 58 ตัว ในมิติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการส่งเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการติดตามความคืบหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ความตกลงปารีส (Paris Agreement) 2015 และกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework)