‘เดนมาร์ก’ คว้าเบอร์ 1 โลก
ลดปล่อยก๊าซแก้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
ไทยแถวหน้าอาเซียนติดอันดับ 100

by Admin

ดัชนีผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมปี 2022 (EPI) จัดอันดับให้เดนมาร์กอยู่ในอันดับที่ 1 ของการจัดอันดับประจำปีนี้ จากประสิทธิภาพการทำงานที่แข็งแกร่งในการส่งเสริมอนาคตพลังงานสะอาดและการเกษตรที่ยั่งยืน ส่วนไทยติดอันดับ 100 กว่า

สหราชอาณาจักรและฟินแลนด์อยู่ในอันดับที่ 2 และ 3 โดยทั้งคู่ได้รับคะแนนสูงจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้ว สหรัฐอเมริการั้งอันดับที่ 20 จาก 22 ประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่ร่ำรวยและอันดับที่ 43 โดยรวม สะท้อนให้เห็นถึงการถดถอยในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในช่วงรัฐบาลทรัมป์  

ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศ ซึ่งสามารถแยกการจัดอันดับอื่น ๆ ได้อีก เช่น ความมีชีวิตชีวาของระบบนิเวศอยู่ที่ 129 ซึ่งถือว่าไม่ค่อยดีเท่าไร

ความมีชีวิตชีวาของระบบนิเวศ (Ecosystem Vitality) คือการวัดว่าประเทศต่าง ๆ รักษา ปกป้อง และเสริมสร้างระบบนิเวศและบริการที่ดีเพียงใด ซึ่งประกอบด้วยคะแนน EPI ทั้งหมด 42% ในกลุ่มนี้อันดับ 1 คือ ออสเตรีย

อันดับของไทยที่ไม่ค่อยดีอีกกลุ่มคือดัชนีที่อยู่อาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 167 อันดับที่ 1 คือ แคนาดา และในแง่การบริการด้านระบบนิเวศไทยอยู่ที่ 152 ซึ่งไม่ค่อยดีเช่นกัน

ในแง่ของนโยบายสภาพภูมิอากาศโลกไทยอยู่ที่ 106 ในขณะที่อัตราการคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 157 ของโลก แต่ข่าวดีคือ อัตราการปล่อยก๊าซ Fluorinated gases ของไทยถือว่าดีมาก

Fluorinated gases หรือ F-gases เป็นก๊าซที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งสามารถอยู่ในบรรยากาศได้นานหลายศตวรรษและมีส่วนทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกทั่วโลก ไทยอยู่ในอันดับที่ 1 ร่วม 7 ประเทศที่ดีทีสุดที่กำจัดก๊าซนี้

การจัดอันดับโดยรวมแล้ว ไทยถือว่าอยู่ในอันดับกลาง ๆ ดีกว่าเพื่อนร่วมภูมิภาค เช่น ติมอร์เลสเต (ที่ 129) มาเลเซีย (ที่ 130) ฟิลิปปินส์ (158) อินโดนีเซีย (164) ขณะที่สิงคโปร์ดีกว่าไทย (ที่ 44)

สำหรับประเทศที่แย่ที่สุดคือ อินเดีย อันดับที่ 180 เมียนมาที่ 179 เวียดนามที่ 178 บังกลาเทศที่ 177 ปากีสถานที่ 176 ปาปัวนิวกีนีที่ 175 ประเทศเหล่านี้อยู่ร่วมภูมิภาคกับไทยหรือแวดล้อมภูมิภาคอาเซียนทั้งสิ้น

การคาดการณ์ EPI ระบุว่ามีเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย จะคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกที่เหลือในปี 2050 หากแนวโน้มยังเป็นแบบในปัจจุบัน

นอกจากนี้แล้วยังมีทั้งหมด 24 ประเทศที่เข้าข่าย “ทำตัวสกปรก” ซึ่งจะปล่อยเกือบ 80% ในปี 2050 เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสภาพอากาศอย่างแข็งขันและวิถีการปล่อยมลพิษจะเปลี่ยนไปเท่านั้น

ข้อมูลจาก

  • https://epi.yale.edu/epi-results/2022/component/epi
  • https://epi.yale.edu/epi-results/2022/country/tha
  • https://epi.yale.edu/downloads/epi2022policymakerssummary.pdf

ภาพ – https://en.wikipedia.org/wiki/Bangkok#/media/File:Yaowarat_at_night_(32455695783).jpg

Copyright @2021 – All Right Reserved.