ถอดบทเรียน “วันสิ่งแวดล้อมไทย” กับ 3 สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติก จำนวนป่าไม้ มลพิษอากาศ ไปถึงไหนแล้ว ขณะที่ ค่าฝุ่นยังพุ่ง ขยะพลาสติกล้นทะลัก ผืนป่าลดลงมากสุดในรอบ 10 ปี
จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลก ที่มีความรุนแรงขึ้น ทำให้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดํารัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตําหนักจิตรลดารโหฐาน ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยต้องประสบ พร้อมทั้งตรัสเตือนพสกนิกร ให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช้เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย คณะรัฐมนตรี จึงได้มีมติ ประกาศให้ วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เกิดภาวะ “โลกร้อน” ตามมา
วันสิ่งแวดล้อมไทย กับ 3 สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไทยเผชิญอยู่ ขยะพลาสติก ป่าไม้ มลพิษทางอากาศ
ขยะพลาสติก
จากการศึกษาของ Ocean Conservancy พบว่า ในปี 2016 มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 242 ล้านตัน โดยประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา (34 ล้านตัน) สหภาพยุโรป (30 ล้านตัน) อินเดีย (26 ล้านตัน) ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 (4.8 ล้านตัน) แต่พลาสติกที่มีการใช้ทั่วไปนั้น ไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตนเอง จึงมีการจัดการโดยการเผา หรือฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ ดิน อากาศได้ โดยจากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ในเดือนเมษายน 2563 มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 3,440 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนปี 2562 ถึงร้อยละ 62 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้บริการ Food delivery และ Online Shopping ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นพลาสติกที่ Recycle ได้เพียง 19% นอกนั้นเป็นพลาสติกปนเปื้อน
จากปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยเอง ก็มีความพยายามเข้ามาจัดการ “ขยะพลาสติก” แบบใช้ครั้งเดียว โดยรัฐบาลได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) ซึ่งประกอบไปด้วย 2 เป้าหมาย เป้าหมายแรก ได้ขอความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ให้เลิกใช้พลาสติก 7 ชนิดได้แก่ พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีดส์ (ภายในปี 2562) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ภายในปี 2565) โดยให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และภายในปี 2570 ตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิด สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100%
สถานการณ์ป่าไม้
ป่าไม้ หมายถึง พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณที่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นไม้ยืนต้น ปกคลุมเป็นผืนต่อเนื่องขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ และหมายรวมถึงทุ่งหญ้าและลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เปรียบเสมือนสังคมขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งของโลก ที่เป็นทั้งบ้าน อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม ความบันเทิง และลมหายใจ ให้กับสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ อีกทั้ง ยังช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เพื่อให้อุณหภูมิของโลกคงที่ ไม่ร้อนเกินความจำเป็น
แต่เมื่อพลิกไปดูข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคเสถียร เผยถึงสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย จากปี 2566 ถึงปี 2567 พบว่า ผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ จากปี 2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ “101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47%” ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 101,627,819.86 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้อีก 190,335.90 ไร่
พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง สาเหตุหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire) นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ความร้อนในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ของป่าผลัดใบและสวนป่า เกิดการร่วงหล่นของใบเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้
ซึ่งการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ไทย ดูเหมือนจะสวนทางกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจาก นโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ในขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2580 นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี ที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติให้ได้ร้อยละ 33 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อใช้ประโยชน์ร้อยละ 12 ของพื้นที่ประเทศ แต่สถิติพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความถึง การสูญหายไปของสัตว์ป่าดั้งเดิม ลดน้อยถอยลงไปด้วยเช่นกัน
มลพิษทางอากาศ
นับวัน “ฝุ่น PM2.5” ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เกินค่ามาตรฐาน กระทบสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือ–ภาคอีสาน ต้องเผชิญกับมลพิษนี้เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมของทุกปี จากข้อมูลคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในอากาศของกรุงเทพมหานคร เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ในปี 2567 ระดับฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่เดือนมกราคม (22.7-66.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และมีผลกระทบต่อสุขภาพในเดือนกุมภาพันธ์ (35.5-87.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ขณะที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในอากาศของภาคเหนือ จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ระดับฝุ่น PM2.5 ในอากาศส่วนใหญ่ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในเดือนกุมภาพันธ์ (18.6-92.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และมีผลกระทบต่อสุขภาพในเดือนมีนาคม (47.4-158.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)ต้นเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาภาคเกษตรกรรม
นอกจากนี้ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในปี 2566 คนไทยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงขึ้นมาก เช่น โรคหลอดลมอักเสบ และมะเร็งปอด
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลก (World Bank) ได้ทำการประเมินความเสียหายทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ จาก 180 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 20 มีมูลค่าความเสียหายมากถึง 45,334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยคิดเป็น 3.89% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 2 ในอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย
การเดินทางของ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … หรือ ร่าง “พ.ร.บ.อากาศสะอาด” จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2563 โดย “เครือข่ายอากาศสะอาด” การรวมตัวของกลุ่มคนจิตอาสา ทั้งนักวิชาการสาขาต่างๆ และกลุ่มภาคประชาชน ในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ และหาสาเหตุต้นตอในเรื่องนี้ ซึ่งประกอบด้วย 124 มาตรา 8 หมวด เป็นร่างกฎหมายฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา
เวลาผ่านไป 4 ปี มีร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภาทั้งสิ้น 7 ฉบับ เสนอโดยรัฐบาลและพรรคการเมือง ได้แก่ ภูมิใจไทย เพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และก้าวไกล ส่วนอีกฉบับ เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด และเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 39 คน ทำให้ความคืบหน้าในปัจจุบันของการร่างกฎหมายอากาศสะอาดอยู่ในวาระที่ 2 ขั้นกรรมาธิการ เพื่อพิจารณารายละเอียดรายมาตรา และจะหลอมรวมร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ โดยมีฉบับร่างของรัฐบาล (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) เป็นร่างหลัก เพื่อรวมเป็นกฎหมายอากาศสะอาดฉบับเดียว
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ทั้ง 7 ฉบับ ประกอบด้วย
- ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับประชาชน โดยเครือข่ายอากาศสะอาด หรือร่างฉบับประชาชน
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ หรือร่างฉบับเพื่อไทย
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. โดย อนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ พรรคภูมิใจไทย
ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หรือร่างฉบับรัฐบาล
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน โดย ตรีนุช เทียนทอง และคณะ พรรคพลังประชารัฐ
ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …. โดย วทันยา บุนนาค และคณะ พรรคประชาธิปัตย์
ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .… โดย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ และคณะ พรรคก้าวไกล
ทั้งนี้คาดว่า ภายในปี 2568 เมื่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาโหวตเห็นชอบ และไม่มีการแก้ไข ขั้นตอนถัดไปคือ ทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่จนถึงปัจจุบัน เรายังต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นพิษอยู่ต่อไป
อ้างอิง : https://www.onep.go.th/