ทำกรุงเทพให้น่าอยู่สำหรับทุกคน ผ่านนโยบายสิ่งแวดล้อม 34 ข้อ โจทย์หินสำหรับ ‘ผู้ว่าชัชชาติ’

ผู้ว่าคนใหม่ของคนกรุงเทพฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้รับคะแนนโหวตอย่างท่วมท้นกว่า 1.3 ล้านเสียงทุบสถิติคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มีความท้าทายต่อ “คำสัญญา” ที่ได้ประกาศไว้กับประชาชนชาว กทม. อย่างมาก เนื่องจากมีเวลาพิสูจน์การทำงานเพียง 4 ปี ซึ่งในอดีตชาว กทม.ต่างผิดหวังกับผู้ว่ามาแทบทุกคน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมักอ้างว่าไม่มีอำนาจในการแก้ปัญหาได้จริง ๆ 

กล่าวเฉพาะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ชัชชาติได้นำเสนอไว้ทั้งหมด 34 ข้อ ถือว่ามากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้สมัครรายอื่น ฉะนั้นหลังจากเริ่มเข้าทำหน้าที่ผู้ว่าเมืองหลวงแล้ว ถือเป็นคำสัญญาที่ให้กับชาวกรุงเทพฯ ว่าจะไม่ขายฝัน แต่ทุกนโยบายจะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริง หรือมีรูปธรรมจับต้องได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

เมื่อพิจารณานโยบายสิ่งแวดล้อมของชัชชาติที่ทำได้จริง ลงมือทำได้ทันทีและมีความเป็นไปได้สูงที่สุดพบว่า อย่างน้อยมีเพียง 2-3 ข้อ นั่นคือ ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง โดยได้กำหนดรายละเอียดไว้ว่า การปลูกต้นไม้เพิ่มให้ครบ 1 ล้านต้น แบ่งการปลูกเป็น 400 ต้น/เขต/สัปดาห์ และจะให้ครบล้านต้นใน 4 ปี 

นอกจากนี้ นโยบายจัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขตก็สามารถเริ่มจัดหาและลงมืออบรมได้ทันทีเพราะมีสมาคมและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้ว หรือนโยบายพยากรณ์ แจ้งเตือน ป้องกันฝุ่น PM2.5 สามารถทำทันทีได้เช่นกันเพราะมีแอปพลิเคชั่นรองรับ เพียงแค่ประสานกับกรมควบคุมมลพิษและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ ฯลฯ 

สำหรับนโยบายด้านที่เหลือนั้นไม่ง่ายและต้องใช้เวลาประชุมพิจารณา รวมทั้งแสวงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น เพิ่มรถเมล์สายหลักและรองราคาถูกราคาเดียว,  ตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน, ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone, สนับสนุนให้เกิด ecosystem รถพลังงานไฟฟ้า, สร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร ฯลฯ 

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของชัชชาติที่จะทำให้กรุงเทพน่าอยู่สำหรับทุกคนจึงเป็นความท้าทายผู้ว่าฯ กรุงเทพอย่างยิ่ง และต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

อ่านซ้ำนโยบายสิ่งแวดล้อมทั้ง 34 ข้อ และนโยบายทั้งหมดของชัชชาติได้ที่ : https://www.chadchart.com/policy?tag=62145cf3204d4c4f8ab8c803

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน