สำเร็จ กระทรวงคมนาคม นำร่อง “นครพนมโมเดล” ทำแปลงนาข้าวสาธิต ด้วยนวัตกรรม “โดรนเพื่อการเกษตร” สามารถลดต้นทุนนาข้าวไร่ละกว่า 5,000 บาท เพิ่มผลผลิตอีกเท่าตัว ลดผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกับ นายสุรชัย หนูพรหม รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ วิทยุการบิน (บวท.) รวมถึง หน่วยงานเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานเกี่ยวข้อง แถลงผลงานโชว์ความสำเร็จ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการส่งเสริมใช้โดรนเพื่อการเกษตร นำร่องพื้นที่แปลงนาข้าวสาธิต พื้นที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เพื่อลดต้นทุนการเกษตร เน้นทำเกษตรแบบแม่นยำ จนสามารถลดต้นทุนการผลิตในแปรงนาข้าว ไร่ละกว่า 5,000 บาท และเพิ่มผลผลิตอีกเท่าตัว เตรียมขยายโครงการสู่ชุมชน ตามนโยบาย 1 โดรน 1 ตำบลเพื่อการเกษตร ของรัฐบาล
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายวิทยุการบิน มาทำประโยชน์ให้กับประเทศ ในโครงการโดรนเกษตรปลอดภัย “นครพนมโมเดล” ในพื้นที่แปลงเกษตรสาธิตผลิตข้าวเหนียวพันธุ์ กข22 บ้านพนอม ต.พนอม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พื้นที่ต้นแบบส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ทั้งการใช้ห้วงอากาศอย่างปลอดภัย และการบินโดรนถูกต้องตามระเบียบ
โดยผลสรุปเป็นไปตามเป้าหมายเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ภายหลังมีการนำโดรนเข้าใช้งานหว่านปุ๋ย ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง และการใช้นวัตกรรมเครื่องหยอดข้าวของวิทยุการบิน ในการเพาะปลูก ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนในด้านของปริมาณการใช้เมล็ดพันธ์ข้าวลง 52 เปอร์เซ็นต์ ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลง 25 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานเกษตรได้ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ โดยผลผลิตที่ได้จากแปลงสาธิตพื้นที่ 22 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยที่ 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นกว่าการเพาะปลูกแบบเดิม 250 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่าย สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ย 5,254 บาท ต่อไร่ คิดเป็นรายได้มากกว่าการทำนาแบบดั้งเดิม 2,509 บาทต่อไร่
ทั้งนี้ จะมีการประสานกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อวางแผนขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ ทั่วประเทศ สนับสนุนนโยบาย 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีทำการเกษตร ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรแบบเดิมให้เป็นการเกษตรแม่นยำสูง ลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุน ลดการสัมผัสยาฆ่าแมลง เสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความยั่งยืนในชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม
โดรนเพื่อการเกษตร คืออะไร
โดรนเพื่อการเกษตร คือ เทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้กับการเกษตร หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นนวัตกรรมการเกษตรยุคใหม่ เพื่อแก้ปัญหาแรงงานคนในภาคเกษตรไทยที่มีน้อยลง โดยโดรนเพื่อการเกษตรจะเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ช่วยคุมต้นทุนในการผลิต จึงช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก
ประโยชน์ของโดรนเพื่อการเกษตร
- ลดต้นทุนการผลิต
- ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ด้วยการหว่านหรือฉีดพ่นอย่างแม่นยำ เช่น โครงการ “นครพนมโมเดล” ลดเมล็ดพันธุ์ 52% ปุ๋ย 25% และแรงงาน 41%
- ลดค่าแรงงานจากการใช้โดรนทดแทนแรงงานคนในงานหว่านเมล็ด ฉีดพ่น หรือสำรวจพื้นที่
เพิ่มผลผลิต
การใช้โดรนช่วยให้การจัดการพืชผลแม่นยำ เช่น การฉีดพ่นสารอาหารหรือยาฆ่าแมลงเฉพาะจุด ช่วยให้พืชเจริญเติบโตดีขึ้น
ตัวอย่าง: โครงการนครพนมเพิ่มผลผลิตข้าวจาก 850 เป็น 1,100 กก./ไร่
เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)
- โดรนติดตั้งเซ็นเซอร์และกล้อง ช่วยวิเคราะห์สภาพดิน ความชื้น และสุขภาพพืช เพื่อวางแผนการเพาะปลูกและดูแลพืชอย่างเหมาะสม
- ช่วยตรวจจับปัญหา เช่น โรคพืชหรือศัตรูพืช ได้รวดเร็วและเฉพาะเจาะจง
- ลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
- ลดการสัมผัสสารเคมีของเกษตรกรจากการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงด้วยมือ
- ลดการใช้สารเคมีเกินจำเป็น ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
ประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพ
- โดรนทำงานได้รวดเร็ว ครอบคลุมพื้นที่กว้างในเวลาสั้น เช่น หว่านเมล็ดหรือฉีดพ่นในพื้นที่หลายไร่ได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
- ช่วยเกษตรกรบริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น
- สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
- เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เช่น โครงการนครพนมเพิ่มรายได้ 2,509 บาท/ไร่
- ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในชุมชนเกษตร ตามนโยบาย “1 โดรน 1 ตำบล” สร้างชุมชนเกษตรดิจิทัล
การสำรวจและบริหารจัดการพื้นที่เกษตร
- โดรนสามารถถ่ายภาพทางอากาศและสร้างแผนที่ 3 มิติ เพื่อวางแผนการใช้ที่ดิน การชลประทาน หรือการจัดการทรัพยากร
- ช่วยติดตามความก้าวหน้าการเพาะปลูกและประเมินผลผลิตล่วงหน้า
ปลอดภัยและถูกระเบียบ
การใช้โดรนภายใต้การควบคุมของหน่วยงาน เช่น วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ช่วยให้การบินปลอดภัยและสอดคล้องกับกฎหมายการบิน
ดังนั้น ประโยชน์ของ โดรนเพื่อการเกษตร ช่วยยกระดับการทำเกษตรสมัยใหม่ ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพ และส่งเสริมความยั่งยืน ทั้งยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชนเกษตรทั่วประเทศ