อึ้ง! อันตรายไมโครพลาสติก ทำลายเซลล์มนุษย์-โรคลำไส้

จากการศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งหนานจิง ได้ตรวจสอบตัวอย่างอุจจาระจากผู้ป่วยโรคลำไส้ประเภทหนึ่ง 52 คน และคนที่ไม่มีอาการ 50 คน จากภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคลำไส้มีอนุภาคไมโครพลาสติกต่อกรัมมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการใด ๆ ถึง 1 เท่าครึ่ง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งหนานจิง (Nanjing University in Science) ของจีนได้ค้นพบสิ่งที่น่าตกใจโดยพบว่า ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคลำไส้ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Inflammatory bowel disease (IBD) มีไมโครพลาสติกในอุจจาระมากกว่าคนที่ไม่มีการวินิจฉัยถึง 50%

IBD เป็นโรคที่ยังไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการ แต่จากอาการของโรคสามารถเรียกรวม ๆ ได้ว่า “ลำไส้อักเสบเรื้อรัง” อาการคือ ปวดเกร็งในช่องท้อง กดเจ็บ ท้องเสีย ถ่ายวันละหลายรอบ ในรายที่เป็นมากอาจถ่ายมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน และอาจเกี่ยวข้องกับโรคโครห์น (Crohn’s Disease) และโรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) (ข้อมูลจาก “รู้จัก IBD ไส้อักเสบเรื้อรัง” จากเว็บไซต์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์)

ข้อมูลของสำนักงานควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ก็ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้โดยระบุว่า “ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของ IBD แต่ IBD เป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานอย่างถูกต้องจะโจมตีสิ่งมีชีวิตภายนอก เช่น ไวรัสและแบคทีเรีย เพื่อปกป้องร่างกาย ใน IBD ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินอาหาร ดูเหมือนว่าจะมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมด้วย”

แต่จากการศึกษาใหม่จากหนานจิง ได้ตรวจสอบตัวอย่างอุจจาระจากผู้ป่วย IBD 52 คน ซึ่งเป็นการจำแนกประเภทที่รวมถึงโรคโครห์นและอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล และคนที่ไม่มีอาการ 50 คนมาจากภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน นักวิจัยพบว่า ตัวอย่างจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็น IBD มีอนุภาคไมโครพลาสติกต่อกรัมมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการใด ๆ ถึง 1½ เท่า หรือคิดเป็นจำนวนชิ้นก็คือ คนไม่มีอาการพบไมโครพลาสติก 28 ชิ้นต่อกรัม ส่วนคนมีอาการ IBD พบมากถึง 41.8 ชิ้นต่อกรัม

การค้นพบของนักวิทยาศาสต์จีนเผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างไมโครพลาสติก และ IBD แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจว่าอาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย หรือทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วรุนแรงขึ้น พวกเขาบอกว่า “การกลืนกินไมโครพลาสติกจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่นั้นก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจ”

แต่ในรายงานการวิจัย นักวิทยาศาสตร์ได้เขียนเอาไว้ว่า “ความสัมพันธ์เชิงประจักษ์ (หมายถึงหลักฐานที่ชัดเจน) ระหว่างไมโครพลาสติกในอุจจาระ และสถานะ IBD บ่งชี้ว่า การสัมผัสไมโครพลาสติกอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการของโรค หรือ IBD นั้นทำให้การสะสมไมโครพลาสติก (ในร่างกาย) รุนแรงขึ้น”

รายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology ยังกล่าวว่า “การบริโภคไมโครพลาสติกของมนุษย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการแพร่หลายของไมโครพลาสติกในอาหาร และน้ำดื่มต่าง ๆ” และ “บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับน้ำดื่ม อาหาร และการสมผัสกับฝุ่นละอองเป็นแหล่งสำคัญของการสัมผัสกับไมโครพลาสติกของมนุษย์”

ในเวลาไล่เลี่ยกันมีรายงานการวิจัยโดยคณะแพทย์ศาสตร์ฮลล์ ยอร์ก (Hull York Medical School) ประเทศสหราชอาณาจักรที่ตีพิมพ์ใน Journal of Hazardous Materials พบว่า ในการทดลองในห้องปฏิบัติการ ไมโครพลาสติกในระดับที่ผู้คนรู้รับประทานผ่านอาหารโดยไม่รู้ตัวนั้นสามารถสร้างความเสียหายให้กับเซลล์ของมนุษย์ได้

เช่นเดียวกับรายงานของนักวิทยาศาสตร์จีน ผลกระทบต่อสุขภาพต่อร่างกายมนุษย์นั้นยังไม่แน่นอน เนื่องจากไม่ทราบว่าไมโครพลาสติกยังคงอยู่ในร่างกายนานแค่ไหนก่อนที่จะถูกขับออกมา แต่นี่เป็นงานวิจัยแรกที่พบอันตรายต่อมนุษย์ในระดับไมโครพลาสติกที่มนุษย์รับเข้าไป อันตรายนั้นรวมถึงการตายของเซลล์และปฏิกิริยาการแพ้

นักวิจัยจะทำการการวิจัยในอนาคตต่อไปเพื่อให้สามารถระบุอาหารที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุด และหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้นได้ เพื่อลดอันตรายจากการรับมันเข้าไป แต่นักวิจัยบอกว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือการหยุดการทิ้งขยะพลาสติก เพราะเมื่อพลาสติกอยู่ในสิ่งแวดล้อม เราไม่สามารถนำมันออกไปได้จริง ๆ มันจะเหลือร่องรอยที่เราแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นอยู่ดี

ข้อมูลจาก
• DHannah Sparks. (December 23, 2021). “Irritable bowel syndrome linked to more microplastics in the gut”. The New York Post.
• Damian Carrington. (December 23, 2021). “Microplastics cause damage to human cells, study shows”. The Guardian.
ภาพ: OceanBlueProject/commons.wikimedia

Related posts

ประเทศผู้ผลิตน้ำมันขัดขวางข้อตกลง แก้มลพิษพลาสติกโลกล้มเหลว

ว้าวมาก พลาสติกชนิดใหม่รีไซเคิลได้ สามารถย่อยสลายในน้ำทะเล

โลกกำลังสำลักพลาสติก ใครต้องรับผิดชอบลด ‘ขยะที่อันตรายที่สุด’ นี้?