กฟภ.นำร่องติดตั้งน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า ผลิตจากปาล์มน้ำมันมุ่ง BCG

ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข หัวหน้าโครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน

สวทช. นำร่องใช้ EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าผลิตจากปาล์มน้ำมันไทยเครื่องแรกร่วมกับ กฟภ. สนับสนุนเศรษฐกิจก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานแถลงข่าว และพิธีเปิดการนำร่องใช้ “EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย” ว่า ความสำเร็จในการติดตั้งและนำร่องการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ “EnPAT” น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทยเครื่องแรก ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 เป็นก้าวสำคัญของการสร้างนวัตกรรมสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

EnPAT มีคุณสมบัติเด่นคือจุดติดไฟที่อุณหภูมิสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส ช่วยป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด และสามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างมาตรฐานของประเทศที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากปาล์มน้ำมัน การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนที่จะช่วยให้ประเทศก้าวหน้าในอุตสาหกรรมโอเลโอเคมี (กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของไขมันพืชและสัตว์ที่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ) และส่งเสริมการใช้งานภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ผลการทดสอบการนำร่องใช้งานน้ำมัน EnPAT ในครั้งนี้จะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์นี้จะสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศและส่งเสริมการใช้ปาล์มน้ำมัน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่ต้องการกระตุ้นปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มผ่านความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีเป้าหมาย

ทั้งนี้ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเป็น 1 ใน 8 ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศ แลขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

ศ.ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มพลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บพข. มีภารกิจหลักสนับสนุนทุนวิจัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ โครงการพัฒนาและนำร่องใช้งาน EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าปลอดภัยจากปาล์มน้ำมันไทย เป็นตัวอย่างความสำเร็จการบูรณาการของหลายภาคส่วนในอุตสาหกรรมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชนถึง 9 หน่วยงาน รวมถึงความร่วมมืออย่างดีจากเทศบาลตำบลเสม็ด จ.ชลบุรี

นายประสงค์ ดีลี ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและวิศวกรรม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า กฟภ.เป็นหน่วยงานแรกในการนำร่องติดตั้งและใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุน้ำมัน EnPAT เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารสำนักงานและบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ ต.เสม็ด โดยได้ร่วมมือกับทีมวิจัย สวทช.ขยายผลการใช้งานน้ำมัน EnPAT ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งจะติดตั้งและใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT เพิ่มเติมในพื้นที่ที่เหมาะสมทั่วประเทศ

ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC สวทช.) กล่าวว่า น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า EnPAT เป็นผลงานวิจัยภายใต้ “โครงการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม และนำร่องการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน” โดยทีมวิจัยเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูงของ ENTEC สวทช.ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพข. บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กฟภ. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

ทีมวิจัยได้เริ่มคิดค้นและพัฒนาต้นแบบ EnPAT ตั้งแต่ปี 2563 โดย EnPAT ได้ผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบการเสื่อมสภาพในสภาวะเร่งที่มากกว่า 6,000 ชั่วโมง การทดสอบความสามารถในการปกป้องกระดาษฉนวน รวมทั้งการทดสอบประสิทธิภาพในสภาวะเร่งโดยทำการทดสอบในหม้อแปลงไฟฟ้าจริงที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า แนวทางการใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเชิงพาณิชย์ แบ่งออกเป็น 3 แผนงานหลัก คือ แผนงานที่ 1 เป็นการใช้งาน EnPAT ในหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 1.1) การนำร่องใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT เครื่องแรกร่วมกับ กฟภ. 1.2) การขยายการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ 1.3) การใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT ในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการสนับสนุนจาก กฟน. และ 1.4) การขยายการใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าบรรจุ EnPAT เข้าไปในหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ

สำหรับแผนงานที่ 2 นำ EnPAT ไปใช้ในหม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งและอยู่ระหว่างการใช้งาน ซึ่งเป็นการค่อยๆ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากน้ำมันแร่สู่น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพได้ทั้งหมด และแผนงานที่ 3 พยายามผลักดันให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพฉบับแรกของประเทศ

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่