อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน

ผลกระทบจากสภาพอากาศทั่วโลกรุนแรงมากขึ้น หากทุกประเทศไม่ทำตามแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้า โอกาสที่โลกจะได้รับผลกระทบจะรุนแรงมาก

รายงาน Emissions Gap 2024: No more hot air … please! ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า ประเทศต่างๆ จะต้องดำเนินการและมีความทะเยอทะยานอย่างมากในการจัดทำการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions:NDC) รอบต่อไปให้เป็นไปตามเป้าหมาย มิฉะนั้นการควบคุมอุณหภูมิที่ 1.5°C ตามข้อตกลงปารีสจะไม่มีทางเป็นจริง (ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าทั่วโลกไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับ1.5°C ได้)

การดำเนินการให้เป็นไปตาม NDC ของแต่ละประเทศในรอบต่อไป ทุกประเทศมีกำหนดส่งในช่วงต้นปี 2025 ก่อนการประชุม COP30 ที่บราซิล โดยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 42 ภายในปี 2030 และร้อยละ 57 ภายในปี 2035 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1.5°C

หากไม่สามารถเพิ่มความทะเยอทะยานให้เป็นไปตาม NDC โลกจะต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไปแตะ 2.6-3.1°C ตลอดศตวรรษนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและผู้คนทั่วโลก

อย่างไรก็ตามในทางเทคนิคแล้วยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย 1.5°C โดยทุกประเทศต้องดำเนินการตาม NDC อย่างแข็งแกร่งและเร่งด่วนด้วยแนวทางแบบองค์รวมของรัฐบาลที่จะเพิ่มผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้สูงสุด และลดผลประโยชน์ทับซ้อนให้เหลือน้อยที่สุด

ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะต้องเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างการเงินระดับโลก การดำเนินการของภาคเอกชนที่เข้มแข็ง และเพิ่มการลงทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างน้อย 6 เท่า โดยเฉพาะประเทศสมาชิก G20 ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดจะต้องดำเนินการอย่างหนัก และไม่มีเงื่อนไข

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า “มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ผู้คนทั่วโลกต้องจ่ายราคาที่แพงลิบลิ่ว การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ทำลายสถิติ ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นจนเกิดพายุเฮอริเคนที่รุนแรง ความร้อนในระดับที่ทำลายสถิติทำให้ป่าไม้กลายเป็นกล่องไม้ขีดไฟ และเมืองต่างๆ กลายเป็นห้องซาวน่า ฝนที่ตกในระดับที่ทำลายสถิติส่งผลให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่”

รายงานฉบับบนี้ระบุว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายจำกัดภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2°C ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 28% ภายในปี 2030 และ 37% จากระดับปี 2019 ภายในปี 2035 ซึ่งถือเป็นปีสำคัญที่จะรวมอยู่ใน NDC ฉบับต่อไป

“ช่วงเวลาแห่งวิกฤตสภาพภูมิอากาศมาถึงแล้ว เราต้องระดมพลทั่วโลกในระดับและความเร็วที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เริ่มทันที ก่อนที่คำมั่นสัญญาเรื่องสภาพภูมิอากาศรอบต่อไปจะประกาศ มิฉะนั้น เป้าหมาย 1.5°C จะสิ้นสุดลงในไม่ช้า และอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 2°C จะต้องเข้ามาแทนที่ในหอผู้ป่วยหนัก” อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการบริหารของ UNEP กล่าว “ฉันขอเรียกร้องให้ทุกประเทศหยุดพูดจาโอ้อวดอีกต่อไป ใช้การเจรจา COP29 ที่กำลังจะมีขึ้นในบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เพื่อเพิ่มการดำเนินการในตอนนี้ เตรียมการสำหรับ NDC ที่แข็งแกร่งขึ้น จากนั้นจึงทุ่มสุดตัวเพื่อมุ่งสู่เส้นทาง 1.5°C

“แม้ว่าโลกจะร้อนเกิน 1.5°C และโอกาสที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นก็เพิ่มขึ้นทุกวัน เราก็ต้องพยายามต่อไปเพื่อให้โลกก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิแม้เพียงเศษเสี้ยวขององศาเซลเซียสก็มีค่าในแง่ของการช่วยชีวิต การปกป้องเศรษฐกิจ ความเสียหายที่หลีกเลี่ยงได้ ความหลากหลายทางชีวภาพที่จะได้รับการอนุรักษ์ และความสามารถในการลดอุณหภูมิที่ร้อนเกินไปได้อย่างรวดเร็ว”

แม้การดำเนินการที่ผ่านมามีความล่าช้า แต่การเพิ่มการใช้งานเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์และพลังงานลมอาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 27% ของศักยภาพทั้งหมดในปี 2030 และ 38% ในปี 2035 การดำเนินการด้านป่าไม้อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 20% ในทั้งสองปี ทางเลือกอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการด้านประสิทธิภาพ การใช้ไฟฟ้าและการเปลี่ยนเชื้อเพลิงในอาคาร การขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม

ศักยภาพนี้แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย COP28 ที่กำหนดให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่าภายในปี 2030, เพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานเฉลี่ยต่อปีทั่วโลกเป็นสองเท่าภายในปี 2030, เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ตลอดจนอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศ

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างน้อย 6 เท่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ การลงทุนเพิ่มเติมดังกล่าวจะมีมูลค่า 0.9-2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ตั้งแต่ปี 2021 ถึงปี 2050 โดยเฉพาะจากกลุ่ม G20 ซึ่งต้องรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่นี้อย่างทะเยอทะยานอย่างมากทั้งในปัจจุบันและในคำมั่นสัญญาใหม่

ปัจจุบันสมาชิก G20 ยกเว้นสหภาพแอฟริกามีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 77 ในปี 2023 การเพิ่มสหภาพแอฟริกาให้เป็นสมาชิกถาวรของ G20 ซึ่งทำให้จำนวนประเทศที่เป็นตัวแทนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 44 ประเทศเป็น 99 ประเทศ ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 82 การช่วยเหลือจะหว่างประเทศก็จะต้องเพิ่มขึ้นด้วย

อ้างอิง:
• Oct 24, 2024 . Emissions Gap Report 2024, UNEP
Oct 24, 2024 . Nations must close huge emissions gap in new climate pledges and deliver immediate action, or 1.5°C lost, UNEP

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

โลกเดือดเขย่ายุโรป น้ำท่วมสเปนดับ 200 เสียหายหนักครั้งประวัติศาสตร์